รัฐบาลถังแตก ตอนที่ 3(จบ)

Mon, May 29, 2006

English | ทักษิณ

รัฐบาลถังแตก ตอนที่ 3(จบ)

คลิ้กเพื่ออ่าน รัฐบาลถังแตก ตอนที่ 1 / ตอนที่ 2

วันที่ :29 พฤษภาคม 2549

ก่อนจะถึงเนื้อหา ลองนึกภาพเงินในธนาคารของท่านตอนสิ้นปี สมมุติกันว่า ณ สิ้นปี 2544 ท่านมีเงินออมในธนาคารจำนวน 1,000,000 บาท ท่านได้ประมาณไว้ว่าปีหน้า คือปี 2545 ท่านน่าจะมีรายได้ทั้งปีประมาณ 1 ล้านบาท และคำนวณแล้วว่าอาจจะใช้เงินตลอดปีประมาณ 1.2 ล้านมากกว่าที่หาได้ประมาณ 200, 000 บาท

คิด แล้วท่านมีทางแก้ปัญหา 2 ทางคือ 1. กู้เงินจากเพื่อน 200 , 000 บาท จะได้พอกับรายจ่าย หรือ 2. นำเงินออมที่เก็บไว้มาใช้ 200, 000 บาท ถ้าท่านเลือกวิธีที่ 1 เงินออม ณ สิ้นปี 2545 จะเหลือเท่าเดิมคือ 1,000,000 บาท แต่ท่านจะมีภาระเป็นหนี้ 200,000 บาท ถ้าท่านเลือกวิธีที่ 2 เงินออมของท่านก็จะเหลือเพียง 800, 000 บาท แต่ไม่เป็นหนี้ใคร วิธีนี้ดีสุด เพราะเป็นการประหยัดค่าดอกเบี้ย ทุกคนใช้วิธีนี้กันทั้งนั้น ความจริงแล้ว เงินออมของพวกเรามักเป็นของแท้ เหลือจากใช้จ่ายเท่าไหร่ก็จะฝากประจำเก็บไว้ เงินขาดมือถึงจะเบิกมาใช้ เงินคงคลังของรัฐบาลก็ไม่ต่างกันครับ เพียงแต่ว่า เงินของรัฐมีปีงบประมาณเป็นหลักในการคิด เงินคงคลังที่ถือว่าเป็นเงินออม อาจไม่ใช่เงินออมเสมอไป เพราะมีค่าใช้จ่ายค้างข้ามปี เงินออมของท่านผู้อ่านคือเงินออมที่แท้จริง ไม่มีเวลาเป็นตัวกำหนด ไม่มีค่าใช้จ่ายข้ามปี ตั้งค้างรอเบิก ผมได้เรียนแล้วว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2544 มีเงินคงคลัง 76 , 402 ล้านบาท ไม่ใช่เป็นเงินออมทั้งหมด เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้จ่ายอีกเป็นจำนวนมากของปีก่อนๆ ภาษาราชการเขาเรียก ค่าใช้จ่ายเหลื่อมปีครับ รัฐบาลเมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่าเงินภาษีที่เก็บได้ ไม่มีสิทธิเลือกวิธีใด เงินขาดเท่าไหร่ จะต้องขอวงเงินกู้เท่านั้น รัฐบาลอาจไม่กู้ทั้งหมดก็ได้ เพราะในระหว่างปีงบประมาณ รัฐบาลอาจมีรายได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ กู้ไป เงินอาจจะเหลือ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องกู้ให้ครบทั้งจำนวน เสียดอกเบี้ยฟรีไปทำไม ขณะเดียวกัน รายจ่ายของรัฐบาลก็ไม่แน่นอน เพราะบางครั้งทำตัวเลขตกหล่น หรือไม่คาดว่าจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้วิธีที่สองคือ นำเงินคงคลังมาใช้ก่อน การบริหารเงินสดของรัฐบาลจึงยุ่งยาก ซับซ้อน ทำได้ดีหรือไม่ขึ้นโดยตรงกับความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ครับ 3 ปีแรกของรัฐบาลคุณทักษิณ ตั้งงบประมาณขาดดุล และต้องกู้เงินทั้ง 3 ปี ประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหา คือ ค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า งบกลาง ครับ งบกลางตั้งไว้สูงมากทุกๆปี ทำให้รัฐบาลต้องตั้งวงเงินกู้เพื่อปิดหีบงบประมาณจำนวนมากทั้งสามปี งบกลางถูกวิจารณ์มากว่าเป็นการจัดงบประมาณที่ผิดวินัยทางการคลังอย่างร้าย แรง เพราะเป็นการขอใช้เงินโดยไม่มีโครงการหรือแผนงานรองรับ มีแต่วงเงินเท่านั้น พอถึงเวลาใช้เงินจริง จึงไม่มีปัญญาใช้ให้ทันในปีงบประมาณนั้นๆ ก็ไม่มีแผนงานรองรับนี่ครับ เป็นการใช้เงินแบบมั่วๆ จึงใช้ไม่ทัน ต้องกันวงเงินเผื่อไว้ข้ามปี ไม่ใช่ปีเดียว 2-3 ปีก็มี นี่แหละครับ ที่ทำให้เงินคงคลังมีจำนวนสูงขึ้นในช่วง 3 ปีแรก เพราะหน่วยราชการใช้เงินไม่ทัน หลังจาก 3 ปี แรกแล้วเกิดอะไรขึ้นครับ ปลายปีที่ 3 และต้นปีที่ 4 ปรากฏว่างบกลางที่เตรียมไว้เมื่อปีที่ 1 เพิ่งจะมาเบิกกันครับ ทำให้เงินคงคลังที่มีเหลืออยู่ไม่พอจ่าย เกิดเป็นตัวแดงขึ้น ที่กล่าวมานี้เป็นปัญหาแรก ที่ไม่ได้เตรียมแผนไว้รองรับ ปัญหาที่สองครับ ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการจัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ยอมรับความจริง ตัวอย่างเช่น ปีนี้ต้องใช้หนี้ 80 , 000 ล้านบาท สำนักงบประมาณก็จะจัดงบประมาณไว้ให้เพียง 60 , 000 ล้าน เวลาเบิกเงิน สำนักงบประมาณอนุมัติให้เบิกตามจริง โดยนำเงินคงคลังมาให้ก่อน กฎหมายย่อมให้ทำได้ ใช้เงินในส่วนที่เรียกว่าเงินนอกงบประมาณ ทำให้เงินนอกงบประมาณกลายเป็นตัวแดง สำนักงบประมาณใช้วิธีนี้มาโดยตลอด ทำไมทำกันอย่างนี้ เอาใจนายไงครับ ทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ต่ำกว่าความเป็นจริง พอนำตัวเลขค่าใช้จ่ายมาเปรียบกับรายได้จากการเก็บภาษี ตัวเลขดูสวยขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายต่ำ ทำให้จัดงบประมาณสมดุลง่าย รัฐบาลคุยโวได้ว่าเก่ง โกยคะแนนเสียงทางการเมืองเป็นกอบเป็นกำ

ถ้าไม่เชื่อผม ดูตัวเลขซิครับ ว่ามีการเบิกเงินคงคลังไปใช้กันเท่าใดในแต่ละปี

การใช้จ่ายเงินคงคลังปีงบประมาณ 2544 – 2548

Picture 4

รวมเงินจ่ายจากเงินคงคลัง 184 ,443 ล้านบาท

“ มาตรา 7 ในกรณีต่อไปนี้ ให้สั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 2 หรือคลังจังหวัดหรือคลังอำเภอได้ก่อนที่มีกฎหมาย
อนุญาตให้จ่าย คือ

(1) รายการจ่ายที่มีการอนุญาตให้จ่ายเงินได้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ แต่เงินที่ตั้งไว้มีจำนวนไม่พอจ่ายและพฤติการณ์เกิดขึ้นให้มีความจำเป็นต้อง จ่ายโดยเร็ว

(2) มีกฎหมายใดๆที่กระทำให้ต้องจ่ายเงิน เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายนั้นๆและมีความจำเป็นต้องจ่ายโดยเร็ว

(4) เพื่อ ซื้อคืนหรือไถ่ถอนพันธบัตรของรัฐบาลหรือตราสารเงินกู้ของ กระทรวงการคลังหรือชำระหนี้ตามสัญญากู้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กู้ ทั้งนี้ ตามจำนวนที่รัฐมนตรีเห็นสมควร

สรุปว่าในช่วงปี 2545-2548 มีการจ่ายเงินเกินกว่าที่ปรากฎในเอกสารงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 184 ,443 ล้านบาท ไม่ผิดกฎหมายครับ พรบ.เงินคงคลังมาตรา 7 อนุญาตอยู่แล้ว วิธีการงบประมาณระบุว่า ถ้ามีการนำเงินคงคลังมาใช้ในปีใด ต้องจัดงบจ่ายคืนในปีถัดไป ทราบว่ามีการจัดงบประมาณเพื่อใช้คืนในปีถัดไปจริง แต่เม็ดเงินไม่เคยนำส่ง จริงหรือไม่ต้องรอฟังสำนักงบประมาณชี้แจง

สรุปว่าในช่วงปี 2545-2548 มีการจ่ายเงินเกินกว่าที่ปรากฎในเอกสารงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 180 , 421 ล้านบาท ไม่ผิดกฎหมายครับ พรบ.เงินคงคลังมาตรา 7 (1) อนุญาตอยู่แล้ว วิธีการงบประมาณระบุว่า ถ้ามีการนำเงินคงคลังมาใช้ในปีใด ต้องจัดงบจ่ายคืนในปีถัดไป ทราบว่ามีการจัดงบประมาณเพื่อใช้คืนในปีถัดไปจริง แต่เม็ดเงินไม่เคยนำส่ง จริงหรือไม่ต้องรอฟังสำนักงบประมาณชี้แจง

ปัญหาที่สามครับ เมื่อรัฐบาลมีการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินในแต่ละโครงการ ทำให้การเบิกจ่ายมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่กลายว่ามากระทบเงินคงคลัง ที่มีไว้ไม่มากพอ เห็นได้ชัดเจนว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลคุณทักษิณไม่เข้าใจคำว่าวินัยทางการคลัง การตั้งงบประมาณที่เรียกว่างบกลาง แล้วนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองโดยไร้แผนงาน นอกจากจะเป็นการใช้เงินภาษีแบบไม่โปร่งใสแล้ว ยังทำให้การบริหารเงินสดเกิดปัญหา เช่นเวลามีเงินสดมากในปีแรกๆ ขอวงเงินกู้ไว้ แต่กู้ไม่ครบเพราะโครงการที่ใช้งบกลางยังไม่ได้เริ่ม ทำอย่างนี้ติดต่อกัน 3 ปี พอเริ่มต้องใช้เงินในปีที่ 4 จึงเกิดปัญหา นี่ถ้าเป็นภาคเอกชน ป่านนี้ ซีอีโอฝ่ายการเงิน ( CFO ) ถูกไล่ให้ไปขายหวยบนดินแล้ว

แล้วสมัยก่อนนี้เขาทำกันอย่างไร ?

ลองไปดูรัฐบาลช่วงปี 2532 – 2539 กันครับ เงินคงคลังแข็งปึก เรียกได้ว่าเป็นเงินออมจำนวนสูงทีเดียว จัดงบประมาณสมดุลเกือบทุกปี หาได้เท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น ไม่มีการกู้เงินเพิ่ม ไม่มีการตั้งงบประมาณกลางปีเพื่อถลุงใช้เงินเกินความจำเป็น ตัวเลขเงินคงคลังของแต่ละปีเป็นอย่างนี้

Picture 5

เงินคงคลังจากที่มีเพียง 21 , 320 ล้านบาท เพิ่มเป็น 319 , 915 ล้านบาท

อย่าง นี้ครับ เขาเรียกว่าเงินคงคลังที่เป็นเงินออมอย่างแท้จริง รัฐบาลสมัยก่อนจะดีชั่วอย่างไรก็แล้วแต่จะคิดกัน อย่างน้อยไม่เคยมีรัฐบาลไหนถลุงเงินภาษีของประชาชนอย่างเมามัน ที่ซ้ำร้าย ยังใช้ระบบการตลาด โฆษณาหาคะแนนนิยมว่าเก่งกาจทางด้านเศรษฐกิจอีกต่างหาก

แต่ทุกอย่างก็หมดสิ้นเพราะวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2539 เงินคงคลังล่าสุดเกือบ 4 แสนล้านบาทด้องนำมาใช้จนหมด เราไม่ต้องโทษว่าเป็นความผิดของใคร แต่ต้องคิดว่า ยังโชคดีที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้อุตส่าห์มีเงินออมสะสมไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นก็คงแย่กว่านี้

ถึงวันนี้ เป็นอย่างไรครับ

เงินออมของประเทศนะไม่มีหรอก เพราะช่วงที่เวลารัฐบาลเก็บภาษีได้มากกว่าที่ประมาณการ มีเงินเหลือ แทนที่จะเก็บออมไว้ใช้ในอนาคต ก็ไปตั้งงบประมาณกลางปี ถึงสองปีซ้อน ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย ตอนนี้เงินออมของประเทศไม่มีครับ เพราะฉะนั้นเลิกคุยเสียทีว่าบริหารเก่ง เศรษฐกิจแข็งปึก

สรุปว่ารัฐบาลยังไม่ถึงกับถังแตกครับ แต่มีปัญหา ขาดวินัยทางการคลัง ไม่มีวินัยในการใช้เงินภาษีของประชาชน ทำให้บริหารเงินสดผิดพลาด

เป็น บทเรียนสำคัญที่รัฐบาลจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์คือเงินจากหยาดเหงื่อของ ประชาชน ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินมาใช้ในการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับตัวเองหรือพวกพ้อง อย่างเด็ดขาด

ต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดกับเจ้าของเงินครับ

ขอบคุณท่านผู้อ่าน ที่ได้ติดตามและทนอ่านมาได้จนถึงวันนี้

เก็บไว้ในใจมันกลุ้ม หาที่ระบายหน่อยครับ

ถ้าท่านต้องการทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงบกลางของคุณทักษิณ
คลิกได้ที่ : งบกลางของแผ่นดิน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายกฯ

ข้อมูล : กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

Click to Download Printer Friendly Version

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags:

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา