ซุปเปอร์…นอมินี
17 พฤศจิกายน 2549
เงินไม่ใช่พระเจ้า แต่เชื่อว่าถ้าอยากจะค้นหาความจริง เรื่องใดก็แล้วแต่ ถ้าตามเส้นทางเดินของเงินให้ถูก เชื่อขนมกินได้เลยว่า ความลับทั้งหลายจะไหลมาเทมา รับข้อมูลกันไม่หวัดไม่ไหวเชียวละ
จำซุกหุ้นภาคหนึ่งได้ไหมครับ ปปช. ตรวจเส้นทางเดินของเงิน พบว่า เงินปันผลที่ บรรดาคนรับใช้ในบ้านของคุณทักษิณได้รับจากการถือครองหุ้นชินแทนเจ้านาย มีการนำเข้าบัญชีส่วนตัวของภรรยาคุณทักษิณทั้งหมด เรื่องถึงแดงขึ้นและต่อมา เราจึงได้ยินคำว่า บกพร่องโดยสุจริต จากปากของ คุณทักษิณ ในสมัยนั้น
มาถึงวันนี้ ถ้าท่านผู้อ่านอยากรู้ว่า ใครคือเจ้าของบริษัท Ample Rich ตัวจริง ไม่ยาก ตรวจสอบว่า เงินปันผล ที่บริษัท Ample Rich ได้รับตลอด 4 ปี เป็นเงินรวมแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท เข้ากระเป๋าใคร เข้าบัญชีใคร คนนั้นละครับคือเจ้าของบริษัทตัวจริง
และถ้าอยากจะรู้ว่าใครเป็นเจ้าของบริษัทชินตัวจริง ต้องดูที่เส้นทางเดินของเม็ดเงิน ที่ใช้ในการซื้อหุ้นครับ อย่าได้เผลอเสียเวลา นั่งวิเคราะห์โครงสร้างของการถือหุ้นบริษัทกุหลาบแก้ว ที่มีการจัดตั่งขึ้นเพื่อเข้ามาซื้อหุ้นเป็นอันขาด เพราะจะมองไม่ออกว่า เจ้าของตัวจริงเป็นใคร ไทยแท้หรือไทยเทียม เนื่องจากเป็นการจัดโครงสร้างเพื่อให้สอดคล้องตามที่กฎหมายไทยได้กำหนดไว้ เท่านั้น
เริ่มต้นกันที่สถานะภาพของบริษัทชินในปัจจุบัน ณ วันที่ 30 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2549 ผู้ถือหุ้นชินรายใหญ่ มีเพียง 3 ราย คือ
1. บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด 1,742,407,239 หุ้น (54.53 %)
2. บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด 1,334,354,825 หุ้น (41.76 %)
3. UBS AG สาขาสิงคโปร์ 35,600,300 หุ้น ( 1.11%)
บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ นั้น เป็นบริษัทไทย บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ เจ้าของคือ เทมาเส็ก รัฐบาลสิงคโปร์ ส่วนรายที่ 3 เจ้าของเป็นบุคคลนิรนาม ฝากหุ้นให้ธนาคาร UBS ถือแทน วันนี้เรายังไม่พูดถึงบุคคลนิรนาม รายที่ 3 แต่เราจะดูเม็ดเงินที่บริษัทซีดาร์ และบริษัท แอสเพน ใช้ในการไล่ซื้อหุ้น ซึ่งได้ใช้เงินทั้งหมดไปแล้วกว่า 151,000 ล้านบาท เพื่อเข้าครอบครองกิจการของบริษัทชิน โดยถือหุ้นรวมกันสูงถึง 96.29 เปอร์เซ็นต์
เงินจำนวนมากกว่า 151,000 ล้านบาท ที่ใช้ซื้อหุ้นนี้ เป็นเงินสดทั้งหมด ถ้าท่านผู้อ่านนึกภาพไม่ออก ว่าเงินนี้มากแค่ไหน ลองเปรียบกับงบประมาณแผ่นดินของเราซิครับ กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทีเดียว บริษัทแอสเพน นั้นใช้เงินไปประมาณ 65,000 ล้านบาทเศษ ส่วนบริษัท ซีดาร์ใช้ไปกว่า 85,000 ล้านบาท
บริษัท แอสเพน เป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ มีเงินซื้อหุ้นแน่นอน ส่วนของบริษัท ซีดาร์ซิครับ ที่ควรตรวจสอบ ให้ชัดว่า มีปัญญาหาเงินกว่า 85,000 ล้านบาท มาจากไหน อย่าลืมว่า บริษัทนี้เป็น บริษัท ไทย นะครับ
บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จดทะเบียน เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 มีทุนจดทะเบียน 8,000 ล้านบาท
กรรมการ ตอนนี้ ก็มีกัน 3 คน คือ
1.นาย ฟูน ชิวเฮง
2. นาง สาง ทาน ไอซิง
3. นาย สุรินทร์ อุปพัทธกุล ( คลิก เพื่อดูข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ )
2 ใน 3 ของ กรรมการ ลงลายมือชื่อ ผูกพันบริษัทได้เท่านั้น เห็นชัดแล้วใช่ไหมครับ ว่า กรรมการ จาก สิงคโปร์ 2 ท่าน คือผู้มีอำนาจตัวจริงของบริษัท ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท ซีดาร์ นั้น เทมาเส็กใช้โครงสร้างการถือหุ้น 3 ลำดับชั้น เพื่อให้เป็นบริษัทไทย ตามที่กฎหมายไทยกำหนดไว้เท่านั้น
เพื่อให้เห็นภาพชัด ว่า ใครควรรับภาระส่วนของเม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อหุ้นอย่างไร ผมได้ทำตาราง มาแสดงประกอบ ในตารางนี้จะมีตัวเลข( สีแดง )ที่เป็นเม็ดเงินที่ใช้ในการกวาดซื้อหุ้นชินที่ผู้ถือหุ้น(ตัวหนังสือสีดำ) พึงรับผิดชอบ แบ่งตามสัดส่วนของความเป็นเจ้าของ (สีน้ำเงิน) ตัวอย่างเช่น คุณ สุรินทร์ เป็นเจ้าของ กุหลาบแก้ว 68% พึงรับผิดชอบ เม็ดเงินที่ใช้ซื้อหุ้น 24,000 ล้านบาท เป็นต้น
เม็ดเงินที่ฝ่ายไทยพึงรับผิดชอบ อาจสรุปได้ดังนี้ครับ
1.ธนาคารไทยพาณิชย์ 8,581 ล้านบาท
2.คุณพงส์ สารสิน
คุณศุภเดช พูนพิพัทธ 700 ล้านบาท
3.คุณสุรินทร์ อุปพันธกุล 24,000 ล้านบาท
เห็นได้ว่า ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย ต้องหาเงินมาลงขันทั้งหมดประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ คือ 110,000 ล้านบาทเศษ เป็นเงินจากเทมาเส็ก ทั้งสิ้น ในนามบริษัทแอสเพน บริษัทซีดาร์ และ บริษัทไซเปรส
หลายท่านอาจจะเถียงผมว่า วิเคราะห์แบบนี้ไม่ได้ ผมอาจมองต่างมุม แต่ไม่ผิดหรอกครับ ตัวเลขนี้บอกให้เราได้รู้อะไรบางอย่าง เช่น
· เทมาเส็ก หรือรัฐบาลสิงคโปร์ ถลุงเงินไปแล้วกว่า 110,000 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นชิน
· ฝ่ายไทย ต้องรับผิดชอบเม็ดเงินส่วนที่เหลือ ประมาน40,000 ล้านบาท ส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ 8,500 ล้านบาท ไม่น่าเป็นปัญหา ธนาคารซะอย่าง แต่ส่วนของบุคคลซิครับที่น่าสงสัย โดยเฉพาะของคุณสุรินทร์ ต้องใช้เงินถึง 24,000 ล้านบาท อีกสองท่านผมไม่พูดถึง เพราะถือหุ้นแบบ บุริมสิทธิ ไม่ต้องรับผิดชอบมากเหมือนผู้ถือหุ้นสามัญ
บริษัท ซีดาร์ มีทุนจดทะเบียนเพียง 8,000 ล้านบาท ต้องใช้เงิน กว่า 85,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าหุ้น ส่วนที่ขาด ก็ต้องกู้ น่าจะมาก ถึง 7 – 8 หมื่นล้าน สำหรับหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ คงหนีไม่พ้น กองทุนเทมาเส็ก รัฐบาลสิงคโปร์ นักลงทุนฝ่ายไทยไม่มีน้ำยา หรอกครับ ไม่ใช่ดูถูกกัน แต่เท่าที่ทราบจากผลการตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าแค่เงินของฝ่ายไทยที่ต้องใช้ในการลงทุนในบริษัทกุหลาบแก้ว ยังต้องยืมเงินจากเทมาเส็กบ้าง หรือขอให้เทมาเส็กค้ำประกันให้บ้าง
ส่วนของคุณสุรินทร์ ที่ต้องจ่ายกุหลาบแก้วเป็นค่าทุนจดทะเบียน ถึง 2,700 ล้านบาทนั้น ก็ไม่ได้มาจากบัญชีเงินฝากของคุณสุรินทร์ กลายเป็นเงินจากบัญชีของบริษัท Fairmont จัดตั้งที่ หมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ แถมการจ่ายเงินก็สั่งจ่ายโดยบริษัท GreenLand ซึ่งเป็นเจ้าของ บริษัท Fairmont อีกทอดหนึ่ง ยุ่งกันไปหมด สรุปแล้วไม่รู้ว่าใครเป็นคนออกเงินค่าทุนจดทะเบียนของกุหลาบแก้วให้คุณ สุรินทร์ เห็นแต่ชื่อ นอมินีเต็มไปหมด
ชัดแล้วใช่ไหมครับว่า แท้ที่จริงแล้ว เทมาเส็ก เป็นเจ้าของ บริษัทชิน เกือบทั้งหมด ท่านผู้อ่านครับ ช่วยกันหาเหตุผลหน่อยว่า ทำไมเทมาเส็กต้องการเป็นเจ้าของบริษัทชินแต่เพียงผู้เดียว ผมจนปัญญาครับ นี่อีกไม่กี่เดือน บริษัทชิน ก็จะถูกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว เพราะมีหุ้นหมุนเวียน ในตลาดไม่ถึงร้อยละ 15 บริษัทชินจะกลายเป็นนิติบุคคล ทั่วไป ไม่ใช่บริษัทมหาชน อีกต่อไป
วันนี้บริษัทชิน ไม่ใช่บริษัทของคนไทย อีกต่อไปแล้ว บริษัทในเครือ ของ บริษัทชิน ไม่ว่าจะเป็น AIS Shin Satellite ITV หรือ Air Asia ถ้ามีโครงสร้างการถือหุ้นที่ปรากฏได้ว่า บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่ บริษัทไทย สัญญาสัมปทานที่บริษัทเหล่านี้มีกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย ก็ต้องถูกยกเลิกครับ
ท่านประธานรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ที่พึ่งจะได้รับตำแหน่งใหม่ ๆ กันไม่กี่วันมานี้ ทำตามที่ท่านประธาน คมช.ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ส่งท่านนายพลมาปราบคอร์รับชั่น ดีไหมครับ จับงานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกเลย เรียก บริษัทคู่สัญญาสัมปทานทั้งหมด ให้นำข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้นว่ายังคงความเป็นบริษัทไทยหรือไม่ มาตรวจสอบกันหน่อย
ผมเชื่อว่า ถ้าประธานเริ่มงานนี้อย่างจริงจังเมื่อไหร่ เทมาเส็ก กองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ วิ่งแจ้น โผล่หน้ามาขอพบแน่ ถึงวันนั้น เทมาเส็ก คงจะบอกให้พวกเราได้รับรู้ว่า บริษัทชิน ยังเป็นบริษัทไทยอยู่ ไม่มีเหตุผลใดที่เทมาเส็ก จะมาฮุบบริษัทชิน ทั้งหมด เหตุผลทางธุรกิจยิ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน บริษัทต่างชาติ ไม่ว่าชาติใดเวลามาลงทุนในไทย ต้องการมีหุ้นส่วนฝ่ายไทยที่เก่ง ที่มีเส้นสายดีทั้งนั้น ในกรณีย์นี้ เทมาเส็กคงจะเปิดเผยข้อตกลงลับที่มีไว้กับผู้ขายตอนซื้อหุ้นชินเมื่อต้นปี นี้ ให้ท่านประธานได้ทราบ ท่านประธานจะได้ไม่ยกเลิกสัญญาสัมปทาน สัญญาลับนี้น่าจะเป็นข้อตกลงว่า แท้ที่จริงแล้วคนในตระกูลชินวัตร และ ดามาพงษ์ ไม่ได้ขายหุ้นให้เทมาเส็ก เป็นเพียงขอให้ทามาเส็กเป็น นอมินี ให้ ช่วงเวลาหนึ่ง เท่านั้นเอง!
Tags: เทมาเส็ก