แสนล้าน ภายใน 6 สัปดาห์
30 พฤศจิกายน 2549
ถ้าวันนี้เรามีคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คงจะได้ยินคำอวดอ้างว่า เศรษฐกิจของประเทศ แข็งแกร่งมาก เงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศ มีสูงถึง กว่า 62,000 ล้านเหรียญ ดอลล่าร์ สหรัฐ ( ตัวเลขอย่างเป็นทางการคือ 62,278 ณ. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 ) นี่คือ สไตล์ คุณทักษิณ พวกเราที่ไม่เข้าใจลึกๆ ก็หลงเชื่อว่าคุณทักษิณเก่ง ทำให้ประเทศร่ำรวย เท่าที่คนไทยทั่วไปจำได้ น่าจะเป็นช่วงที่ประเทศเรามีเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพียง 3 หมื่นกว่าๆล้านเหรียญ ดอลล่าร์สหรัฐ ที่จำได้แม่น เพราะตอนนั้นพ่อใหญ่ชวลิตเป็นนายกรัฐมนตรี ปล่อยให้ธนาคารชาติ คนเก่งของเรา ขายเงินดอลล่าร์ จนหมดหน้าตัก เพื่อปกป้องค่าเงินบาท คนไทยทุกหย่อมหญ้า จำเรื่องนี้ได้ดี ไม่มีวันลืม
ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง หนีไม่พ้นเรื่องของเงินดอลล่าร์ที่อ่อนตัวลงทุกวัน เจ้าของเงิน คือสหรัฐ ดูถ้าจะแกล้งทำเป็นไม่เดือดร้อน เพราะเมื่อดอลล่าร์อ่อนค่า การขาดดุลของสหรัฐก็จะดีขึ้น ดีขึ้นเพราะส่งออกได้มากขึ้น ส่วนสินค้านำเข้า ราคาสูง นำเข้าน้อยลง อาจไม่ผิดที่จะเดาได้ว่า เป็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลของประเทศมหาอำนาจ
ดอลล่าร์อ่อน เงินบาทแข็ง ผู้ส่งออกของเราก็โวยวายทุกครั้งไป เสียงดังเสียด้วย เพราะเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างแท้จริง รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย จึงต้องดูแลเป็นพิเศษ ผู้ส่งออกเขามีปัญหา รายได้ที่เป็นเงินดอลล่าร์ ลดน้อยลง เดิมได้มา 1 เหรียญ เคยแลกได้ตั้ง 42 บาท วันนี้ได้มา 1 เหรียญ แลกได้เพียง 36 บาท หายไป 6 บาท นี่ครับคือปัญหา จะไม่ให้บ่นได้อย่างไร
นักวิชาการบางท่านก็สั่งสอน ว่า ผู้ส่งออกต้องรู้จักปรับตัวเอง ต้องสามารถแข็งขันในตลาดโลกได้ โดยไม่อาศัยค่าเงินบาทอ่อนแต่เพียงอย่างเดียว ฟังดูบางครั้งอยากจับตัวนักวิชาการเหล่านี้ มาลองค้าขายดูบ้าง ผมว่าไปได้ไม่กี่น้ำหรอกครับ
เรื่องค่าเงินบาท เป็นอย่างนี้ครับ ข้อมูล ณ. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 ระบุว่า แบงก์ชาติ ได้เข้าไปปกป้องค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็ง หรือ ผันผวน เกินไป โดยการนำเงินบาท ( ไม่รู้เอาเงินบาทมาจากไหน พิมพ์เองหรือเปล่าไม่แน่ใจ ) ไปซื้อเงินดอลล่าร์ล่วงหน้า แค่เฉพาะช่วงระหว่าง วันที่ 6 ตุลาคม 2549 ถึง 17 พฤศจิกายน 2549 ( 6 สัปดาห์ ) ใช้เงินบาทเพื่อซื้อดอลล่าร์ ไปแล้วประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ กว่า 100,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ มากพอควรทีเดียว รวมตัวเลข ที่ซื้อล่วงหน้าไว้ สูงถึง 7,201 ล้านเหรียญ ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ กว่า 260,000 ล้านบาท และ ทำให้ตัวเลขเงินสำรองเงินตราต่างประเทศสูงขึ้น ถึง 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ( ตัวเลขที่คุณทักษิณชอบโม้)
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่แล้ว มีการโจมตีเงินบาท เพราะเงินบาทแข็งเกินความเป็นจริง แบงก์ชาติเข้าแทรกแซง ขาย ดอลล่าร์ เพื่อพยุงเงินบาท จนหมดตัว และไม่ประสบผลสำเร็จ วันนี้เหตุการณ์ ตรงกันข้ามกับอดีต วันนี้เราไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งเกินไป แบงก์ชาติไล่ซื้อ ดอลล่าร์ จนมีดอลล่าร์ มากเกินความจำเป็น ยิ่งสะสมไว้มากเท่าไหร่ ดอลล่าร์ อ่อนลง ก็ขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกัน แทรกแซงมากเท่าไหร่ เงินบาทในระบบก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ ต้องออกพันธบัตร ดูดซับเงินออกจากระบบ เสียค่าใช้จ่ายอีก ทุกอย่างที่ดำเนินการ ในการแทรกแซง บิดเบือนตลาดจากความเป็นจริง ทำให้ต้นทุนการทำงานของแบงก์ชาติสูงขึ้น ดูเหมือนแบงก์ชาติไม่มีทางเลือก หรือว่ามีแนวทางอื่น วันนี้ ขณะนี้ อาจไม่มีคำตอบ
เมื่อสักครู่ผมคุยให้ฟัง ถึงปัญหาการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องสุดจะสำคัญ ต้องการคนเก่ง มีความรู้ดี และเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง จำกันได้ใช่ไหมครับ เวลาบริหารผิดพลาด บ้านเมืองเสียหาย ย่อยยับภายในพริบตาเดียว
คำถามที่แบงก์ชาติต้องถามตนเองให้ดี คือ ความเป็นอิสระในการบริหารนั้น แค่ไหนคือความพอดี อย่าคิดว่า พวกตนเท่านั้นที่เก่ง คนภายนอกไม่เอาไหน เงินบาทหมดหน้าตัก ธนาคาร สถาบันการเงิน สูญพันธ์ ความล้มเหลวของ กองทุนฟื้นฟู ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ภายใต้ฝีมือ ผู้ว่าการธนาคารชาติ ที่มาจาก ลูกหม้อของแบงก์ ชาติ ทั้งนั้น หรือว่าไม่จริง
แบงก์ชาติ อยากเป็นอิสระมากครับ ความจริงไม่ใช่เฉพาะของไทยเราเท่านั้น ทั้งโลกก็เป็นอย่างนี้ ไม่ต่างจากของเราเท่าไหร่ ถ้าถามว่า ผู้ว่าการธนาคารกลาง ควรขึ้นกับใคร คำตอบคือ “ Report only to God ” เขากระเซ้ากันถึงขนาดนี้ ครับ
ตอนนี้คนในแบงก์ชาติบอกว่า จะทำอะไรก็รีบทำซะ เพราะมีรัฐมนตรีคลังที่เป็นอดีตผู้ว่าการ น่าจะพูดกันง่ายขึ้น คงไม่ผิดครับ ผมกำลังพูดถึง ร่างพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแยกอำนาจความรับผิดชอบ ระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง เช่น อำนาจในการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ หรือ อำนาจในการแต่งตั้งผู้ว่าการ
การตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่รัฐมนตรีได้มอบให้แบงก์ชาติมีอำนาจเต็มมานานแล้ว ผลงานที่ผ่านมา พูดกันจริงแล้ว ก็ไม่ใช่จะดีเด่นแค่ไหน สมัยธนาคารบีบีซี เหลวแหลกแค่ไหนก็มีให้เห็น ผมว่าถ้ามีการคานอำนาจกันไว้บ้าง น่าจะเหมาะสมและรอบคอบกว่า อย่าให้คนเขานินทากันมากไปกว่านี้ว่า คนของแบงก์ชาติ ดื่มแต่ไวน์ สูบแต่ซิการ์ เพราะอยู่ใกล้นายธนาคารมากเกินพอดี
สำหรับงานด้านนโยบายการเงิน ควรมีอิสระอย่างเต็มที่ เห็นด้วยว่าไม่ต้องให้กระทรวงการคลัง เข้ามาวุ่นวายมากนัก เช่นอยากจะออกพันธบัตร เพื่อดูดซับสภาพคล่อง ไม่ควรต้องขออนุมัติคลัง อย่างนี้ผมเห็นด้วย
ร่าง
พรบ. ฉบับนี้ ข่าวว่าจะไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อีกต่อไปแล้ว เหตุผลเพราะไม่อยากให้การเมืองแทรกแซง อยาก จะมีโครงสร้างการแต่งตั้ง ถอดถอน ผู้ว่าการธนาคารกันใหม่ ทำไมครับ ของเก่ามันไม่ดีตรงไหน แสดงว่า หม่อมอุ๋ย หม่อม เต๋า เป็นผู้ว่าการที่ใช้ไม่ได้ จริงหรือ ผมว่าแก้ไม่ถูกจุด คนที่มาเป็นรัฐมนตรีคลัง ไม่โง่มากถึงกับตั้งคนเฮงซวยไปเป็นผู้ว่าการหรอกครับ ท่านอย่าคิดหาความเป็นอิสระโดยวิธีนี้เลย ขอร้อง งานของแบงก์ชาติ มีแต่เรื่องปวดหัว นักการเมืองหน้าไหน ครับ ที่อยากเข้าไปยุ่งด้วย วิธีที่ฉลาดที่สุด ของรัฐบาล ของนักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง คือ หาคนเก่ง คนดี มาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีทางเลือกอื่นหรอกครับ อดีตเคยเห็นกันมาแล้วว่า เวลาได้ผู้ว่าการธนาคารชาติ ที่ไร้ฝีมือ หรือ ทำงานไม่โปร่งใส ทำให้บ้านเมืองเสียหายแค่ไหน นึกถึง บีบีซี นึกถึงการปกป้องค่าเงิน การใช้มาตรการของ กองทุนฟื้นฟู คนหัวลุกทุกทีครับ
แบงก์ชาติต้องการเป็นอิสระ พอจะเข้าใจ การเป็นอิสสระโดย ไม่ต้องการอยู่ใต้อาณัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะรัฐมนตรีเป็นนักการเมือง อาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ให้ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง มีส่วนรับผิดชอบ จะเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษครับ เห็นว่าอยากให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายสภา เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ แน่ใจนะครับ ลืมองค์กรอิสระอย่าง กกต. ที่แต่งตั้งโดยสภาในอดีตแล้วหรือครับ
Tags: ค่าเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย