ขอแจมด้วยคน ค่าเงินบาท

ขอแจมด้วยคน ค่าเงินบาท

24 กรกฎาคม 2550

ผ่านมากว่าสองสัปดาห์ สื่อยังไม่หยุดการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งโป๊ก

มีทั้งผู้เสนอแนะ ติติง บ่น ด่าว่า มาจากผู้ที่คร่ำหวอดทางการเงิน ไปจนถึงคนระดับกรรมการผู้จัดการบริษัทปตท.ที่ค้าขายน้ำมันไปวันๆ ก็ยังอุตส่าห์ออกความเห็น ทำให้เกิดความรู้สึกสงสารประเทศอย่างจับใจ

สงสารเพราะพอมีวิกฤติทางการเงิน เศรษฐกิจมีปัญหา แทนที่คนเดือดร้อนจะวิ่งหาที่พึ่ง มองหาผู้จะมาช่วยให้ตัวเองอยู่รอด นั่นคือธนาคารแห่งประเทศไทย กับกลายเป็นว่า ทุกคนรุมกันแจม ( รวมถึงผมอีกคน) แย่งกันเสนอวิธีการแก้ปัญหา จนสับสนวุ่นวายไปหมด บ่งชัดถึงศรัทธาของผู้คนที่มีต่อธนาคารชาติ ว่าถึงขีดตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง

ภาพการแถลงข่าวของท่านรองนายกโฆษิตนั่งตรงกลาง ขนาบซ้ายขวาด้วยรมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารชาติ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปว่า ธนาคารชาติไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินนโยบายการเงินได้อย่าง อิสระ ถูกผิดอย่างไรไม่ต้องพูดกันให้เสียเวลา อยากจะบอกคุณๆทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่ธนาคารชาติว่า ไม่มีใครเขาจะยอมให้บ้านเมืองพังพินาศอีกครั้งเพราะฝีมือของพวกคุณหรอก ที่สำคัญกว่านั้นและเป็นสัจธรรมก็คือ คุณต้องพิสูจน์ตัวเองว่า มีกึ๋น มีความสามารถจริงเสียก่อน เขาถึงจะปล่อยให้คุณมีอิสระในการทำหน้าที่อย่างที่ต้องการ

ท่านผู้อ่านที่คุ้นกับบทความของผมที่เกี่ยวกับเรื่องค่าเงินบาท คงจำกันได้ดีว่า ผมเคยขอร้องให้ธนาคารชาติเลิกความคิดที่จะแทรกแซงเพื่อต่อสู้กับทิศทางของ ค่าเงินได้แล้ว เพราะจะเสียเวลาเปล่า ไม่ว่าเราจะดำเนินการอย่างไรก็ไม่มีวันที่จะชนะได้ ประเทศของเราไม่อยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจที่จะใช้วิธีการแทรกแซงค่าเงินเหมือน กับประเทศจีนหรือประเทศญี่ปุ่น เราไม่สามารถที่จะนำเงินบาทมาไล่ซื้อเงินดอลล่าร์เพื่อกดดันไม่ให้เงินบาท แข็งขึ้น เหมือนกับประเทศจีนที่พิมพ์เงินหยวน หรือ ประเทศญี่ปุ่นที่พิมพ์เงินเยน แล้วนำมาซื้อเงินดอลล่าร์ได้ตามอำเภอใจ

ทุกคนรู้และเข้าใจกันดีว่า บาทแข็งเพราะเงินดอลล่าร์ไหลเข้า มากกว่าเงินดอลล่าร์ไหลออก ความจริงตัวเลขปริมาณเงินเข้าออกที่เป็นเรื่องของการค้าการขายที่แท้จริง ได้บ่งบอกให้เห็นว่าไทยเราส่งสินค้าออกมากกว่าการนำสินค้าเข้ามานานพอ สมควรครับ

ฟังดูแล้วดีออก ประเทศค้าขายได้กำไร ยังมานั่งบ่นกันอยู่ได้ จริงไหมครับ

เสียดายที่มันไม่ใช่ความเป็นจริง เพราะธรรมชาติของธุรกิจบ้านเรายังต้องพึ่งการนำเข้าอยู่มาก ทั้งเครื่องจักรและวัตถุดิบ ดูตัวเลขแล้วจะเข้าใจว่าตั้งแต่มีการยุบสภามากว่าสองปี ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้เกิดการชะงักงันทางธุรกิจ ธุรกิจหยุดเดินหน้า ไม่มีการลงทุนใหม่ ไม่มีการขยายกำลังในการผลิต ชะลอการสั่งวัตถุดิบ ทำให้ตัวเลขการนำเข้าไม่มีการขยายตัว ขณะที่การส่งออกยังทำได้ดี ผลคือฐานะการค้าการขายมีกำไรที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

สังเกตตัวเลขที่นำเสนอช่วงปี 2004 และ ปี 2005 มีรัฐบาล ธุรกิจเดินหน้า ตัวเลขเกือบทุกรายการ มีการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ มากบ้าง น้อยบ้าง แต่พอมีการยุบสภา ซึ่งถ้าการยุบสภาเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย การหยุดชะงักเพียง 2 – 3 เดือนจะไม่มีผลกระทบ แต่ไม่ใช่ ลากยาวมากว่าสองปี ทำให้ตัวเลขช่วงปี 2005 – ปี 2006 ไม่มีการขยายตัว บางรายการกลับลดลงเสียด้วยซ้ำ เชื่อได้ว่าตัวเลขของปี 2007 น่าจะแย่ลงกว่าเดิม

เมื่อตัวเลขเกินดุลมากเกินพอดี นักวิเคราะห์ นักลงทุนต่างประเทศ มองเห็นทิศทางของค่าเงินบาทได้อย่างชัดว่าค่าเงินบาทมีแต่จะแข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดการผสมโรง เก็งกำไร เงินจึงไหลเข้าผิดปกติ ดูซิครับแค่เงินลงทุนไหลเข้าในตลาดทุนจำนวนน้อยนิดก็ทำให้บาทแข็งมากขึ้นแบบ เหลือเชื่อ

แล้วจะแก้กันอย่างไร

ผมเคยแสดงความเห็นไว้หลายครั้งว่า เมื่อเงินไหลเข้าได้โดยไม่มีการจำกัด ก็ต้องปล่อยให้เงินไหลออกได้โดยไม่จำกัดเช่นกัน ถ้าปล่อยให้เส้นทางเดินนี้ยังเป็นวันเวย์อยู่ อย่าหวังเลยว่าจะแก้ปัญหาความไม่สมดุลนี้ได้

ได้เคยเสนอว่าควรกำหนดแนวทางที่จะเดินไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้โดยเร็ว อย่ารอให้เกิดวิกฤติก่อนแล้วถึงดำเนินการ ( เหมือนที่กำลังมีมาตรการออกมาทีละเรื่องในขณะนี้ ) อะไรปล่อยได้ ทำได้ ก็รีบดำเนินการเสีย เพราะกว่าที่นักธุรกิจจะนำเงินออกไปลงทุน ไม่ใช่ธนาคารชาติอนุญาตวันนี้ พรุ่งนี้ขนเงินออกได้ทันที ทุกอย่างต้องใช้เวลา

สำหรับพวกที่นำเงินร้อนๆเข้าประเทศไทย เมื่อเห็นแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง เขาก็เดาได้ว่าไม่ช้าเงินบาทจะกลับไปอยู่ในค่าที่ควรเป็น เงินประเภทนี้ก็จะถอยทัพไปโดยปริยาย วิ่งไปหากำไรจากประเทศที่ฉลาดน้อยกว่าไทย เพราะง่ายกว่า อาชีพของเขาครับ โลกสมัยใหม่ ต้องไม่โทษกัน แต่ให้รู้ทันกันเท่านั้น

นอกจากเงินลงทุนที่อยากให้นำออกไปแล้ว มีอะไรนำออกไปได้อีกบ้าง

เงินกู้จากต่างประเทศ ไงครับ จำนวนมหาศาลที่กู้โดยทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ หามาตรการส่งเสริมให้เขากู้ในประเทศเพื่อใช้หนี้ในต่างประเทศ กู้เป็นเงินบาท แลกเป็นดอลล่าร์ส่งคืนหนี้ออกไป

ไม่ควรส่งเสริมโดยการพูดหรือขอร้องให้มาช่วยชาติ ต้องมีมาตรการที่ให้ผู้ที่กู้เงินจากต่างประเทศน้ำลายไหล รีบเจรจาเจ้าหนี้เพื่อขอใช้หนี้ จะถูกปรับเพราะใช้หนี้เร็วกว่ากำหนดก็ยอม เพราะทำแล้วคุ้ม ดอกเบี้ยในประเทศจึงต้องต่ำพอ ที่ลดมาแล้วพอไหม ถ้าไม่พอก็รีบส่งสัญญาณว่าจะลดอีก

ทั้งหมดไม่ง่ายเหมือนที่ผมเล่าให้ฟัง มีปัจจัยอื่นๆอีกมากที่ต้องคำนึงถึง เช่น

ถ้าลดดอกเบี้ยมากไปก็กลัวเงินเฟ้อ เดี๋ยวของแพง

ถ้าปล่อยให้เงินไหลออกโดยเสรี ก็กลัวเศรษฐีไทยจะขนเงินออกนอกประเทศไปเสียหมด โดยเฉพาะเศรษฐีอย่างครอบครัวอดีตนายกรัฐมนตรี ( ปัญหานี้หมดไปแล้ว เพราะ 7หมื่นกว่าล้าน ถูกอายัดไปแล้ว )

แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องรวดเร็ว เช่นถ้าจะต้องประชุมนโยบายการเงินก่อนกำหนดก็ต้องทำ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าทำอะไรที่นอกกรอบ ก็อาจต้องกล้าที่จะลาออก

งานที่ธนาคารชาติไม่มีใครว่าหมู ผู้ว่าการคนไหนดวงดี ถ้าบ้านเมืองเป็นปกติ วันๆอาจไม่ต้องทำอะไรมาก วางฟอร์มให้เท่ห์ไว้ก่อน ทำตัวเป็นอิสระ ไม่ฟังใคร ก็คงจะเอาตัวรอดไปได้ เผลอๆมีเสียงชมเสียอีก ว่าเก่ง

แต่ถ้าเป็นช่วงเศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤติ ปัญหาอาจสะสมมานาน เช่นกรณีของเราเป็นตัวอย่างว่าได้ส่อเค้าให้เห็น ( ตัวเลขดุลการค้า ) มาก่อนรัฐบาลชุดนี้เสียอีก มารับงานช่วงนี้จึงแสนจะเหนื่อย

ทำให้เห็นใจท่านผู้ว่าคนปัจจุบันเหมือนกัน เห็นใจมากเกินไปก็ไม่ได้ ต้องคำนึงถึงบ้านเมือง ถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการทำมาหากิน ประชาชนต้องมาก่อนครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา