ททท.
21 ธันวาคม 2550
เกิดเรื่องให้อับอายกันไปทั่วโลกอีกครั้งครับ ครั้งนี้หนักกว่าเดิมเพราะมีหลักฐานแน่น ดูแล้วเกรงว่าจะแก้ตัวยากเต็มที
ทั้งสองครั้งที่มีการทุจริต โกงกินบ้านเมือง เกิดขึ้นสมัยที่เรามีนายกฯชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ที่น่าเจ็บใจก็คือ การจับคนโกงได้ทั้งสองครั้งไม่ใช่ฝีมือพวกเรากันเอง แต่เป็นมือปราบของรัฐบาลสหรัฐฯทั้งสิ้น
ครั้งแรกเป็นฝีมือของคณะกรรมการหลักทรัพย์ (กลต.)ของสหรัฐฯ คดี CTX ไงครับ คดีนี้จบไปแล้วในชั้นศาลของสหรัฐ บริษัทของสหรัฐ(GE Invision) ถูกลงโทษปรับเป็นที่เรียบร้อย แต่การสืบสวนหานักการเมืองไทยที่โกงกินของเราก็เป็นแบบไทยๆ คือหายเข้ากลีบเมฆไป
ครั้งนี้เป็นฝีมือของตำรวจ เอฟ บี ไอ มีหลักฐานชัดเจน ศาลออกหมายจับคนร้ายเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนี้เอง
ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นอาจแปลกใจว่า กฎหมายสหรัฐฯเอื้อมมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีในประเทศไทยได้อย่างไร
สหรัฐฯเป็นประเทศที่เข้มงวดกับนักธุรกิจของเขามากในเรื่องของ คอรัปชั่น จึงได้ออกกฎหมายที่ใช้ชื่อว่า Foreign Corrupt Practices Act เรียกย่อๆว่า FCPA กฎหมายนี้ห้ามไม่ให้นักธุรกิจสหรัฐที่ได้สัญญาว่าจ้างงานในต่างประเทศ มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้งานเป็นอันขาด มือปราบทั้งสองไม่ว่าจะเป็นกลต. หรือ เอฟบีไอ ใช้กฎหมายนี้เล่นงานนักธุรกิจของเขา เรื่อง CTX เป็นเรื่องเก่า แต่ของเอฟ บี ไอ นี่เป็นเรื่องใหม่ สด ๆ ร้อน ๆ ทีเดียว
ถ้าได้อ่านคำให้การของเอฟบีไอแล้วจะเข้าใจได้อย่างละเอียด มีทั้งหมด 28 หน้า ( affidavit http://www.usdoj.gov/criminal/pr/press_releases/2007/12/12-18-07geralpat-green-affidavit.pdf )
แปลย่อมาให้อ่านกันครับ
คุณอลิซาเบธ ไรวาส (Elizabeth Rivas) เจ้าหน้าที่เอฟ บี ไอ เป็นผู้ที่รับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ คำให้การกล่าวหาว่า นายเจอรัลด์และนางแพรทธิเซีย กรีน (Gerald & Patricia Green ) สามี ภรรยา ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้สัญญาในการว่าจ้างงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการแรกโครงการเทศการภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ (Bangkok International film festival ) โครงการที่สองคือโครงการอีลีทการ์ด ( Thailand Privilege Card )
คุณกรีนได้จัดตั้งบริษัทเพื่อทำสัญญากับททท.เป็นจำนวนถึง 6 บริษัท ใช้ที่อยู่ต่างกัน แต่คุณกรีน เป็นเจ้าของทั้ง 6 บริษัท หลักฐานมัดแน่นเพราะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจเส้นทางทางเดินของเงินและพบว่าททท .ได้จ่ายเงินให้บริษัทเหล่านี้ตามสัญญาว่าจ้าง ระหว่างวันที่ 23 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2549 โดยมีการโอนเงินจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเข้าบัญชีของบริษัท FFM, SASO, IFL, FOF, Artist Design และ Flying Pen. เป็นเช็ค 71 ใบและผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ 17 ครั้ง รวมเป็นเงิน $10,095,178.50 หรือประมาณ 460 ล้านบาท
ที่ว่าหลักฐานแน่นเพราะหลังจากที่บริษัทเหล่านั้นได้รับเงินเข้าบัญชี เรียบร้อยแล้วก็ได้มีการโอนเงินออกจากบัญชีบริษัทไปเข้าบัญชีธนาคารในประเทศ อังกฤษ ประเทศสิงคโปร์ และหมู่เกาะเจอร์ซี่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ 41 ครั้ง รวมเป็นเงิน $1,384,694.80
รายละเอียดมีดังนี้ครับ
คำให้การระบุว่าเจ้าของบัญชีที่ได้รับเงินโอนทั้งหมดคือบุตรสาวของผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( Governor’s daughter )
นอกจากนั้นแล้วยังมีการโอนเงินโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์อีก 4 ครั้งและโดยแคชเชียร์เช็ค 1 ครั้ง รวมเป็นเงิน $319,00 เข้าบัญชีของ นาย เค ซี (ชื่อย่อ ) เจ้าหน้าที่เอฟ บี ไอ ระบุว่าเป็นเพื่อนสนิทของผู้ว่าการ ททท.
รวมจ่ายค่าคอมมิชชั่น 2 รายการเป็นเงิน $1,703,694.80
หรือประมาณ 65 ล้านบาทครับ
ในเอกสารคำให้การระบุวิธีการคำนวณเงินโกงว่าประมาณ 10-20 % ของสัญญา
เห็นสภาพการบริหารบ้านเมืองอย่างนี้แล้วเรายังมีความคิดกันอยู่อีกไหมว่า โกงไม่เป็นไรขอให้ทำงานเป็น ก็รับได้ พอเสียทีดีไหมครับ เพราะมันน่าอับอายจริงๆ โลกของอินเตอร์เน็ท ข้อมูลข่าวสาร แพร่ไปได้ทั่วโลกในพริบตาเดียว ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าประเทศไทยและคนไทยทุกคนเสียชื่อเสื่อมเสียชื่อเสียงมาก เพียงใด
ผมไม่อยากให้เป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง สงสารที่สุดคือลูกๆของคนเหล่านี้ ทั้งคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งคดีนี้ คนรับกรรม คือ ลูก ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลยครับ.
Tags: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ททท, ทุจริต, สัพเพเหระ