วัดกึ๋นรัฐบาล
22 กุมภาพันธ์ 2551
สังเกตให้ดีครับ นโยบายประชานิยมเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนเพราะเป็นนโยบายของการ ”ให้ ” ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด รัฐบาลที่มีนโยบายถูกอกถูกใจประชาชน ประชาชนจะชื่นชอบและมักจะชมว่ารัฐบาลเก่ง ประชาชนไม่ต้องการที่จะรู้ราย ละเอียดว่าบริหารอย่างไร ขอเพียงว่าประชาชนจะได้อะไรเท่านั้น
นโยบายให้ประชาชนกู้เงินได้โดยง่ายในรูปแบบของเงินกองทุน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท หรือการให้เงินแบบให้เปล่า ( SML )หมู่บ้านละ 3-4 แสนบาท ไม่ต้องการคนเก่งมีฝีมือมาบริหาร แค่จัดงบประมาณที่เป็นเงินภาษีส่งลงไปที่หมู่บ้านให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน คะแนนนิยมก็ไหลมาเทมา ถ้าเงินงบประมาณมีไม่เพียงพอ กู้ใหม่ได้ ไม่มีอะไรยาก รัฐมนตรีจะแสนขี้เหล่ขนาดไหนบริหารงานได้ทั้งนั้น
นโยบายรักษาพยาบาลฟรีก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน เตรียมจัดหาเงินงบประมาณให้มากพอ เป็นใช้ได้ ถ้ารายได้จากภาษีขาดไปบ้าง ก็ไม่ต้องห่วง กู้อีก เป็นหนี้อีก ไม่เห็นมีใครจะรู้หรือจะกล่าวว่าอะไรได้ นโยบายนี้อาจบริหารเหนื่อยกว่ากองทุนหมู่บ้านเล็กน้อย เพราะผู้บริหารใช้เงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องบริหารให้การรักษาพยาบาลมีคุณภาพ จึงถือได้ว่ามีความยากขึ้นระดับหนึ่ง
ส่วนนโยบายโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ถือได้ว่ารัฐบาลต้องมีฝีมือในการ บริหารมากกว่างานด้านอื่นๆที่กล่าวมาในเบื้องต้น ถ้ามีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ ก็เบาหน่อย แต่ถ้าเป็นโครงการที่ต้องกู้เงินจากแหล่งทุนทั่วไปก็จะยากขึ้นอีกนิด อยู่ที่ว่ารัฐบาลค้ำประกันให้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลใจแข็งไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้ จะค่อนข้างหินมาก เพราะกู้ไม่ได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่รัฐบาลมักจะใจอ่อน ยอมค้ำประกันให้ในท้ายที่สุด
เราจึงมักจะเห็นความล่าช้าของโครงการขนาดใหญ่ ยิ่งถ้าแบ่งเค้กไม่ลงตัว ค่าหัวคิวจัดสรรไม่เรียบร้อย ฮั้วไม่สำเร็จ การประมูลมักจะมีปัญหา ต้องยกเลิกกลางคัน เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ โดยเฉพาะจากการประมูลที่ไม่โปร่งใส รัฐมนตรีที่ดูแลต้องหล่อหน่อยครับ ขี้เหล่ ขี้โกง คงทำให้สำเร็จโดยเร็วยาก
สรุปแล้วเห็นได้ว่านโยบายที่รัฐบาลนำเสนอและพวกเราได้รับรู้ รับฟัง เน้นในเรื่องของการใช้เงินภาษี เพราะไม่ต้องใช้ความสามารถมากมาย
ที่จะวัดกึ๋นกันจริงๆคือความสามารถในการบริหารที่ไม่เกี่ยวกับการใช้งบ ประมาณครับ เห็นได้ชัดๆในขณะนี้คือนโยบายทางการเงินที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการควบคุมการไหลเข้า ไหลออก ของเงินทุน ( มาตรการ 30% ) ปัญหาค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย วันนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบ ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะนำพาประเทศให้เดินไปทางไหน
ไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่าความไม่แน่นอนเมื่อเราพูดถึงเรื่องของ เศรษฐกิจ เรื่องของความเชื่อมั่น มาตรการ 30% จะเลิกหรือไม่เลิกมีความสำคัญน้อยกว่าการกล้าตัดสินใจที่จะดำเนินการในทาง หนึ่งทางใด จะมัวรอให้เวลาแก้ปัญหาด้วยตัวเองหรือรอให้ที่ปรึกษาฝีมือระดับเทวดามา ช่วย ถือเป็นความฝันลมๆแล้งๆทั้งสิ้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน เรื่องสำคัญ รัฐบาลไม่มีปัญญา ไม่มีกึ๋น ไม่มีความกล้า ก็ต้องยอมรับเสียโดยดี รัฐบาลควรแถลงทันทีว่า นโยบายทางการเงิน ยกให้เป็นความรับผิดชอบทั้งหมดของธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ต้องกล้าตัดสินใจครับ ไม่มีใครเขาจะต่อว่าต่อขานหรอก หลายคนอาจชื่นชมเสียด้วยซ้ำ นักลงทุนทั้งหลายจะได้รู้อนาคตของตนเอง และจับทางถูก เพราะรู้ว่าใครรับผิดชอบ
ทุกคนทราบว่าเราต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ เพราะค่าครองชีพกำลังไล่มาติดๆ ถ้าท่านจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายทางการคลังในแนว Keynesian ท่านต้องใช้เงินงบประมาณ เงินภาษี เงินกู้ จำนวนมหาศาล ท่านจะทำให้งบประมาณต้องขาดดุลต่อไปอีกหลายปี
คำถามมีอยู่ว่าพอใช้เงินที่มีและที่ก่อหนี้เพิ่มไปจนหมด ก็จะได้วัดกึ๋นของท่านอีกครั้งว่า เงินที่ใช้จนหมดเกลี้ยงกระเป๋านั้น ท้ายที่สุดแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร มองในแง่ร้าย ปรากฎว่าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นหรือดีเพียงชั่วครู่ ไม่ต่อเนื่อง ทำให้เก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ค่าเงินบาทอ่อนลงอย่างน่าใจหาย หรือมองในแง่ดี รัฐบาลใช้เงินเป็น ทำให้ประสิทธิภาพในการค้าขายของประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจเติบโต เก็บภาษีได้มากเพียงพอสำหรับนำไปใช้หนี้ที่ได้กู้ไว้
ที่ผมอยากเห็นคือ อยากเห็นรัฐบาลอยู่จนครบ 4 ปี อยู่นานพอที่จะได้เห็นผลงานของตนเอง พวกเราจะได้รู้กันว่ารัฐบาลมีกึ๋นสมกับที่คุยไว้จริงหรือไม่.