เสน่ห์ของเงินบาท (ต่อ)

Sun, Sep 28, 2008

English | เศรษฐกิจ

เสน่ห์ของเงินบาท (ต่อ)

28 กันยายน 2552

ความกังวลของผมเกี่ยวกับค่าเงินบาทยังไม่ผ่อนคลาย บ่นให้ฟังไว้เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาครั้งหนึ่งแล้ว http://www.korbsak.com/talk_520803.htm

วันนั้นเงินบาทมีค่า 33.99 บาทต่อ 1 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐ ผ่านมาเกือบสองเดือน ค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปอีก ยืนอยู่ที่ประมาณ 33.50 บาทต่อ 1 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน เงินสำรองของประเทศที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก $ 123,449 ล้าน เป็น $ 132,000 ล้าน

นอกจากนั้นแล้วตัวเลขการเข้าแทรกแซงค่าเงิน ( spot และ swap ) เพิ่มจาก $ 11,366 ล้าน เป็น $ 14,152 ล้าน หรือประมาณ $ 3,000 ล้าน ( 100,000 ล้านบาท ) ภายใน 7 สัปดาห์

การแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยก็เพื่อไม่ต้องการให้ค่าเงินบาท ผันผวนและแข็งค่ามากเกินไป ใช้เงินบาทไป แสนล้านแล้วในช่วงสั้นๆ

รวมซื้อขายล่วงหน้าไว้แล้ว $ 14,152 ล้าน หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 480,000 ล้านบาท มากน้อยแค่ไหน ใครเก่งเลขก็ลองคำนวนดู ธนาคารฯนำเงินบาทจากไหนมาซื้อเงินดอลล่าห์คงไม่มีคำตอบ

ถามว่าเป็นห่วงนโยบายการเงิน งานในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน เป็นห่วงครับแต่ถือว่าเป็นคนละหน้าที่ ธนาคารฯมีความเป็นอิสสระ ความเป็นอิสสระมาพร้อมกับความรับผิดชอบ เมื่อเช้าอ่านข่าวว่ามีการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินคนใหม่ คนใหม่ที่เข้ามารับหน้าที่เคยมีส่วนในการแทรกแซงค่าเงินบาทมาแล้วเมื่อสมัย ต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจของประเทศล่มสลาย ทราบว่าตอนนั้นนั่งอยู่ในห้องค้าเลยทีเดียว วันนี้ผมทำได้แค่ให้กำลังใจครับ อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกก็แล้วกัน

ความจริงแล้วความมีเสน่ห์ของเงินบาทไม่น่าจะต้องทำให้ผมกังวลใจมากนัก น่าจะดีใจที่มีคนชื่นชอบเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ถือเป็นข่าวดีเพราะ

1. ชี้ให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ นำเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเงินบาท ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศมากกว่าเงินไหลออก

2. ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเรามีรายได้จากการส่งออกเข้าประเทศมากกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า

ดูดีออกจะตายไป จริงไหมครับ? แต่ที่ผมกังวลก็เพราะมันไม่จริงนะซิ ข้อมูลที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันยังพิกลพิการ

ถ้าเศรษฐกิจเข้าสู่สภาพปกติ ตัวเลขนำเข้าจะสูงขึ้น รายได้จากการส่งออก จากการท่องเที่ยวก็น่าจะดีขึ้น บวกลบแล้ว มากขึ้นหรือน้อยลง แค่ไหนอย่างไร ตัวเลขจะสะท้อนความจริงมากกว่านี้

ท้ายที่สุด ผมว่าเราต้องถามตัวเองก่อน ท่านอยากให้ค่าเงินบาทแข็ง หรือ อ่อน ครับ

เงินบาทเป็นของคนไทย เงินบาทแข็งค่า คนไทยก็เข็มแข็ง น่าจะชัดเจน ไม่ต้องเถียงกันมาก

แต่ถ้าเงินบาทแข็งมากเกินไป ประเทศค้าขายสู้คนอื่นเขาไม่ได้ ท้ายที่สุดเศรษฐกิจเราก็จะมีปัญหาไม่ใช่หรือ?

เป็นเหตุผลที่เราต้องพยายามเข้าใจและทำใจว่า ถ้าเป้าหมายสูงสุดคือ เงินบาทมีความแข็งแกร่ง

รายได้จากการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบ ก็ต้องปรับปรุง แก้ไข ให้คุณภาพสินค้าส่งออกเข็มแข็งควบคู่กันไป

เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า เราไม่ควรให้เศรษฐกิจขยายตัวจากรายได้ของการส่งออกมากเกินไป ทุ่มเทส่งออกอย่างเดียวอันตรายครับ ต้องส่งออกด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ นี่คือที่มาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และการทุ่มเทงบประมาณจากโตรงการไทยเข็มแข็งของรัฐบาลที่ให้กับงานด้านวิจัย

นอกจากส่งออกสินค้ามีคุณภาพแล้ว (ของดีถึงแม้ราคาแพง ก็ยังมีคนชื้อ) เรายังต้องปรับโครงสร้างให้การบริโภคภายในประเทศเป็นพระเอกมากขึ้นในการขยาย ตัวทางเศรษฐกิจ ไม่พึ่งแต่รายได้จากการส่งออกเพียงอย่างเดียว

แนวความคิดดังกล่าวสำคัญถ้าเราต้องการให้คนไทยเข็มแข็ง เพราะเราเชื่อว่า ค่าเงินของประเทศใดแข็งแกร่ง คนของประเทศนั้นจะเข็มแข็ง

ตัวอย่างประเทศที่ค่าเงินแข็งแกร่ง เช่นประเทศแถบสแกนดิเนเวีย สวิสเชอร์แลนด์ เยอรมันนี ประชาชนของประเทศเหล่านี้เข็มแข็ง มีฐานะการเป็นอยู่ที่ดีทั้งสิ้น

และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ต้องออกมาพูดเกือบทุกวัน ล่าสุดช่วงของการประชุม G20 ท่านสื่อกับชาวโลกว่าสหรัฐจะใช้นโยบายค่าเงินที่มีเสถียรภาพ ไม่อ่อนลงไปกว่านี้ ดูกันให้ดีตอนนี้คนอเมริกันไม่เข็มแข็ง อ่อนแอและจนลงครับ

เคยได้ยินคำว่า Dutch Disease ไหมครับ

ประเทศที่มีน้ำมันมากและมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันสุง ค่าเงินของประเทศเหล่านี้จะแข็ง เงินแข็งค่ามากเกินไปทำให้ประเทศไม่สามารถค้าขาย แข่งขันกับประเทศอื่นได้ ผลที่ตามมาคือการหดตัวทางเศรษฐกิจ ( เพราะโครงสร้างพึ่งแต่รายได้จากการส่งออกน้ำมัน ) ตามมาด้วยการว่างงานของคนในประเทศ และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ท้ายที่สุด ประเทศไม่มีการพัฒนา มีเฉพาะผู้มีอำนาจและพรรคพวกเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

ไม่น่าเชื่อว่า มีน้ำมันมาก ส่งออกได้เงินมากมาย แต่ถ้าไม่ฉลาดใช้ ก็จะสร้างปัญหาได้อย่างมากมาย

วันนี้เราจึงเห็นประเทศฉลาดๆอย่างนอร์เวย์ ที่ไม่นำรายได้จากการขายน้ำมันเข้าเป็นรายได้ประเทศทั้งหมด แต่นำรายได้ส่วนหนึ่งตั่งเป็นกองทุนไว้ข้างนอก นำรายได้เพียงเท่าที่จำเป็นแลกเป็นเงินของตนเอง นำมาใช้พ้ฒนาประเทศ นอร์เวย์เขามีนักการเมือง มีรัฐบาลที่เก่งครับ

ถามผมว่าประเทศของเรากำลังจะเดินไปในทิศทางใด เราไม่มีน้ำมันดิบเหลือเฟือ เรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน เราไม่ต้องห่วง Dutch Disease ครับ เราต้องส่งเสริมการส่งออก แต่เป็นการส่งออกที่เพิ่มคุณค่า คุณภาพ และเติมการใช้จ่ายภายในประเทศ การพึ่งตนเอง ให้มีสัดส่วนมากขึ้นในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เราอาจต้องเริ่มสำรวจตัวเองแล้วว่าประเทศไทยควรคิดอย่างประเทศภูฐานดีไหม ที่จะใช้ Gross National Happiness แทน Gross National Product เป็นตัวชี้วัดทิศทางการพัฒนาประเทศ

แบบที่รู้ๆกันอยู่ วันนี้เรายังตั้งตัวไม่ค่อยได้ เวลาที่ควรจะใช้ในการนำพาประเทศไปในทิศทางที่ควร จะถูกนำไปใช้กับงานการเมือง ความขัดแย้ง การต่อสู้ทางการเมืองนอกกติกา ประชาธิปไตยของเรายังไปไม่ถึงไหน

นโยบายเศรษฐกิจดีๆ ใช้เวลานานเกินควรกว่าจะคลอดออกมา แต่ก็ยังดีครับ ที่พอขยับได้ พอเดินได้บ้าง เพียงแต่กว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำให้สูญเสียเวลาเกินกว่าที่ควรจะเป็น

เสียดายที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังอยู่นอกกรอบ ถ้านำเหตุและผล มาถกเถียงกันในสภา เข้ามาอยู่ในกรอบ การแก้ปัญหานำพาเศรษฐกิจให้เดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น จะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ครับ.

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags:

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา