ยุทธศาสตร์ประเทศ(ตอนจบ-ปฏิรูปเศรษฐกิจ)
ยุทธศาสตร์ประเทศเขียนไว้หลายตอน หลังสุด (ตอนที่ ๓ - ผมรักประเทศไทย) เขียนไว้เมื่อต้นเดือนมีนาคม ตั้งใจว่าบทสุดท้ายจะให้จบปลายเดือน เหตุการณ์จากการชุมนุมของคนเสื้อแดงทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไป ไม่เคยคิดว่าการรับอาสาเข้ามาทำงานทางการเมือง จะรวมไปถึงการมีส่วนในการดูแลปัญหาด้านความมั่นคง ซ้ำร้ายยังเป็นภัยความมั่นคงที่เกิดจากคนไทยด้วยกันเองเสียอีก
เป็นช่วงเวลาที่ต้องหยุดทุกอย่างที่เคยทำ ชีวิตปกติเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน มาถึงวันนี้ดูผิวเผินเหมือนว่าทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ความจริงเป็นอย่างไรผมไม่แน่ใจ ที่แน่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง สิ่งที่ผมได้สัมผัสได้รับรู้ และได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทำให้หลายๆอย่างสำหรับผมไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
คนไทยส่วนหนี่งคงมีความรู้สึกที่ไม่ต่างจากผมเท่าไหร่นัก บาดแผลลึกจากความแตกแยกนี้จะรักษาให้หายขาดหรือไม่ยากที่จะคาดเดา อาจทุเลาลงถ้าเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับอนาคต ลืมอดีตที่ขมขื่น รู้จักให้อภัย จดจำอดีตไว้เพียงเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต พูดนั้นง่าย แต่ทำใจให้ได้นั้นยากเสียเหลือเกิน
ถ้าจะมองไปข้างหน้า มองอนาคต เราจะเดินอย่างไรดี
หลายคนบอกว่าอนาคตของประเทศเราเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองหน้าไหนทั้งสิ้น
ในโลกของความเป็นจริงอาจตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง นักการเมืองต่างหากที่เป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศตัวจริง เจ้าของประเทศอย่างเราๆเป็นแค่เพียงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ไม่ใช่นักการเมืองหรือที่อาจทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง และไม่ใช่นักการเมืองหรือที่ทำให้ประเทศของเราอยู่ในสภาพเช่นที่เป็นในขณะนี้
ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเลือกนักการเมือง เลือกส.ส. ท่านส.ส.เดินเข้าสภาแล้วใช้เสียงข้างมากเลือกนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก กระบวนการเป็นอย่างนี้ เวลาได้รัฐบาลดีก็แล้วไป แต่ถ้าได้รัฐบาลไม่ดี บ้านเมืองบอบช้ำ เวลาโทษนักการเมืองก็จะมีคนเถียงแทน เขาบอกต้องโทษประชาชน นักการเมืองเป็นเองไม่ได้ต้องมีคนเลือก คุณอยากเลือกนักการเมือง เลือกพรรคการเมืองไม่ดีเข้ามาในสภาเอง แล้วจะไปโทษใคร
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งแล้ว เราเกือบไม่มีโอกาสกำหนดอนาคตของเราเท่าไหร่ หลังการเลือกตั้งทุกครั้ง พวกเราก็ได้แต่หวังแบบลมๆแล้งๆ ว่าท่านส.ส.ที่เราเลือกเข้าไปนั่งในสภาจะทำหน้าที่ให้ดี สมใจกับที่เราได้กากะบาทให้เท่านั้น
อยากจะเป็นท่านส.ส.กับเขาบ้างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ลงสมัครอิสระไม่ได้ต้องสังกัดพรรค บอกว่าส.ส.ทำงานเพื่อประเทศ ไม่ใช่เพื่อท้องถิ่น แต่เวลาสมัครต้องเป็นคนที่เกิดในพื้นที่นั้นๆ หรือเคยร่ำเรียน หรืออยู่อาศัยในพื้นที่มาช่วงเวลาหนึ่ง ประชาชนผู้่มีสิทธิเลือกตั้งมีตัวเลือกคือมีผู้สมัครส.ส.ที่มีคุณสมบัติตามสเปคไม่มากนัก ซ้ำร้ายบางเขตเลือกตั้งพรรคการเมืองยังมีการฮั้วส่งผู้สมัครอีกต่างหาก โลกแห่งความเป็นจริงทำให้เราไม่ค่อยจะได้ส.ส.ในฝัน ส.ส.ที่เรากล้าพูดได้ว่า “คนนี้ผมเลือกเอง”
ที่ร่ายยาวเรื่องของท่านส.ส. ก็เพราะท้ายที่สุดของยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาประเทศ แผนการปฎิรูปเศรษฐกิจประเทศไทย จะดูดี ทำได้หรือไม่ ท่านส.ส.ทั้งหลายเป็นตัวจักร เป็นกลไกสำคัญครับ
ปัญหาของการชุมนุมของคนเสื้อแดงทำให้มีคนพูดถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ผมว่าเรื่องความไม่เป็นธรรมมีจริง ผมว่าเรื่องช่องว่างของคนจนและคนรวยมีจริง แต่ผมไม่เคยเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ทำให้ภาคประชาชนคนเสื้อแดงต้องมีกองกำลังพร้อมอาวุธ ต้องปักหลักชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย ต้องเอาเลือดมาเท ต้องถึงกับเผาบ้านเผาเมือง ต้องล้มสถาบัน ไม่เกี่ยวเลยครับ ความเลื่อมล้ำของสังคมเป็นข้ออ้างเพื่อให้ดูดีแต่แท้ที่จริงเป็นเรื่องของการเมืองที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ ส่วนตน ของพรรค ของพวกทั้งสิ้น
ผมเขียนเรื่องยุทธศาสตร์ประเทศ ผมพูดถึงปัญหาคนจน คนรวยก่อนที่คนเสื้อแดงจะเผาบ้านเผาเมืองเสียด้วยซ้ำเพราะผมเชื่อว่าปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยนับวันจะห่างมากขึ้นทุกวันและเป็นเรื่องที่ต้องรีบแก้ไข แต่ผมเพียงได้แค่บ่น อาจมีคนเห็นด้วยบ้าง แต่ก็ไม่มีคนสนใจอย่างจริงจัง ข้อดีที่ผมเห็นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงคือเกิดการตื่นตัว อาจจะเป็นที่สังคมคนรวยเริ่มกังวล เริ่มมองเห็นว่าถ้าปล่อยให้ปัญหาบานปลาย ตนเอง(คนรวย)อาจเดือดร้อน ตรงนี้ดี เข้าเป้าครับ
ท่านผู้อ่านที่ได้อ่านบทความของผมตั้งแต่แรก ( ยุทธศาสตร์ประเทศ ตอนที่ ๑) คงจำได้ว่าผมเปรียบประเทศเป็นบริษัทแม่ และ 76 จังหวัดของประเทศเป็นบริษัทลูก บริษัทแม่หารายได้จากการค้าขายกับบริษัทฯอื่นๆในต่างประเทศ (การส่งออก การท่องเที่ยว) และให้บริษัทลูกๆกันเอง ค้าขายภายในประเทศ (การบริโภคภายใน ประเทศ) รายได้ที่ได้จากการค้าขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งปันนำมารวมกันในรูปแบบของภาษี เป็นรายได้ของแผ่นดิน เดียวนี้รายได้แผ่นดินตัวเลขสูงกว่าล้านล้านบาทต่อปีครับ
ผมได้เคยพูดไว้ว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรานำรายได้แผ่นดินมาแบ่งปันให้ผู้ถือหุ้นคือประชาชนกว่า 63 ล้านคน อย่างเป็นธรรม เท่าและทัดเทียมกัน
กระบวนการการแบ่งผลกำไรหรือรายได้ของบริษัทประเทศไทยนี้ต้องมีกฎหมายรองรับครับ เรียกว่า พรบ.งบประมาณประจำปี ผู้เสนอกฏหมายคือรัฐบาล ผู้ให้ความเห็นชอบ พิจารณารายละเอียด ปรับลดงบประมาณคือท่านส.ส. ตัวแทนของพวกเรา เริ่มมองเห็นความสำคัญของท่านส.ส.ผู้ทรงเกียรติ (ด้วยความเคารพ) หรือยังครับ
มีคำถามว่ารัฐบาลที่ดีควรจัดสรรงบประมาณอย่างไรจึงจะเกิดความเป็นธรรมในสังคมนี้ คำตอบคือทุกรัฐบาลรู้ว่าควรจะทำอย่างไร เพราะผู้บริหารอ่านตำราเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรคการเมืองพรรคใดก็แล้วแต่ อยู่ที่ใจของนักการเมืองครับว่าจะทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อตนเองและพรรคพวก
ความยากจึงอยู่ที่การเมือง ความยากอยู่ที่ว่าผู้ถือหุ้น (ประชาชน) จะสนใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถ้าผู้ถือหุ้นสนใจการเมืองน้อย เลือกตั้งแล้วก็แล้วกัน อย่างนี้เสร็จนักการเมือง แต่ถ้าภาคประชาชนเข้มแข็ง เฝ้าดูพฤติกรรมของนักการเมืองอย่างใกล้ชิด พรรคการเมือง นักการเมืองก็จะระมัดระวังตัวมากขึ้น
ข่าวดีคือวันนี้ประชาชนเริ่มมองเห็นแล้วว่าปล่อยให้นักการเมืองเอาประเทศไปบรรเลงกันเองไม่ได้เสียแล้ว ประชาชน ผู้ถือหุ้น จึงต้องลงมาเล่นเสียเอง นี่ละครับคือที่มาของการปฎิรูปประเทศไทยโดยภาคประชาชนครั้งสำคัญ
(ท่านผู้อ่านอาจแปลกใจว่าทำไมผมถึงเขียนบทความที่เหมือนกับดูถูกดูแคลนนักการเมือง ทั้งๆที่ผมเองก็เป็นนักการเมืองมากว่า 20 ปีแล้ว ต้องออกตัวว่าทุกสังคมมีคนดี คนไม่ดีปนกันไป สังคมการเมืองก็ไม่ต่าง นักการเมืองที่ผมกล่าวถึงคือประเภทคนไม่ดี นักการเมืองดีๆก็มีไม่น้อย)
ผมจะขอแสดงความเห็นในเรื่องของการปฎิรูปเศรษฐกิจของประเทศ เฉพาะประเด็นของการแก้ปัญหาความยากจน ผมเชื่อว่าปัญหานี้แก้ได้ หัวใจคือต้องแบ่งผลกำไรจากการค้าขายของบริษัทประเทศไทยให้กับผู้ถือหุ้นกว่า 63 ล้านคนอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่คนรวยได้มาก คนจนได้แต่เศษที่เหลือ
ข้อเสนอของผมครับ
ให้ภาคประชาชนไปสร้างกลไกในการกำหนดวิธีการจัดสรรงบประมาณ รื้อใหม่ทั้งหมด อาจสร้างกลไกที่บังคับให้ทุกรัฐบาลต้องดำเนินการในการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ด้อยโอกาส ยกตัวอย่างเช่น งบประมาณเรียนฟรีจริง งบประมาณรักษาพยาบาลถ้วนหน้า งบประมาณดูแลผู้สุงอายุ งบประมาณประกันรายได้เกษตรกร เหล่านี้ ให้กลายเป็นงบประจำเสียทั้งหมด
เมื่อลูกหลานของครอบครัวผู้ถือหุ้นได้โอกาสในการศึกษาที่ทัดเทียมกัน เมื่อรัฐบาลดูแลทุกครอบครัวเวลาเจ็บป่วย และเมื่อพ้นวัยทำงาน หรือเมื่อเกษตรกรทำการเกษตรแล้วต้องไม่มีคำว่าขาดทุน ให้เกษตรกรมีรายได้ประจำเช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือน ดำเนินการในแนวนี้ติดต่อกันทุกปี กำหนดไว้เลยว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องทำ เป็นการแบ่งกำไรจากรายได้ของประเทศให้ทุกผู้ถือหุ้นทุกคนอย่างทัดเทียมกัน
นอกจากนั้นเมื่อมีเงินเหลือก็ต้องแบ่งกำไรเพื่อใชัในการลงทุนด้านอื่นๆ การแบ่งกำไรเพื่อลงทุนให้กับบริษัทลูกๆ (งบจังหวัด) หรือการนำรายได้ไปลงทุนก่อสร้างโครงการที่ทำให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นเกษตรกรหรือนักธุรกิจได้ประโยชน์ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง ต้องให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ต้องสร้างกลไกเพื่อให้นักการเมืองหรือท่านส.ส.ที่ต้องการทำหน้าที่ในการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณ ให้ได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบการตรวจสอบ เพื่อยากต่อการทุจริตโกงกินเงินงบประมาณ
นโยบายหรือกลไกการตรวจสอบโดยภาคประชาชนกับการลงทุนของรัฐหรือภาคเอกชนที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม กับทรัพยากรธรรมชาติก็ต้องให้มีการกำหนดที่ทำได้จริง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ
จะใช้เงินงบประมาณขยายถนน ๔ เลน ๖ เลน เพื่อความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว ขยายถนนแล้วต้องตัดต้นไม้ใหญ่ และอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าที่ควร เช่นกรณีเขาใหญ่ ก็ต้องรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้ถือหุ้นเจ้าของประเทศไม่ว่าจะเป็นป่า เช่นเขาใหญ่ หรือหาดริมทะเล หัวหิน พัทยา กระบี่ ภูเก็ต เหล่านี้เป็นสมบัติของพวกเราทุกคน ถ้าจะเอาสมบัติเหล่านี้ไปทำประโยชน์ก็ต้องคิดให้รอบคอบ
การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องจำเป็น ป่าเราต้องสงวน หาดทรายสวยๆ ก็ต้่องเก็บไว้ ใครอยากมาเที่ยว ใครอยากมาชม มาได้แต่ต้องกำหนดปริมาณไม่ให้มากเกิน วิธีกำหนดก็ไม่ยาก เช่นถนนแคบก็ไม่ต้องไปขยาย ถ้าถนนแคบ รถติด เดินทางลำบาก ยิ่งดี เพราะจำนวนนักท่องเที่่ยวจะได้น้อยลงไปบ้าง เขาใหญ่ของเราจะได้คงสภาพความเป็นป่ามรดกโลกไวั ไม่เสื่อมโทรม เที่ยวน้อยแต่เที่ยวได้นานเป็นสิ่งที่ควรทำ
ผมอาจมีความคิดที่ต่างกับหลายๆท่าน อาจเป็นเพราะผมหวงทรัพยากรของชาติมากผิดปกติ ผมอยากให้เราสามารถสร้างรายได้จากสมบัติอันน้อยนิดที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยขน์ในระยะยาวตลอดไป
ที่พูดมานี่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สร้าง ไม่ขยายถนน ไม่พัฒนาประเทศ ที่ต้องการสื่อคือเงินงบประมาณเป็นของผู้ถือหุ้น เป็นของประชาชนกว่า 63 ล้านคน จะใช้ทำอะไรต้องให้เกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้นอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นที่ด้อยโอกาสครับ
ผมมีความเชื่อว่าการปฎิรูปเศรษฐกิจของประเทศคงไม่สามารถทำให้ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันได้ แต่ผมเชื่อและถือว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน
การปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทยในมุมมองของผมครับ