ว่าด้วยปราสาทพระวิหาร
Sat, Aug 14, 2010
ผมได้อ่าน ปราสาทพระวิหาร ข้อมูลและข้อคิด โดยศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล เมื่อสองวันก่อน อ่านแล้วอดไม่ได้ที่ต้องนำประเด็นที่สำคัญๆมาเล่าให้ฟังครับ ได้สอบถามท่านอาจารย์ดร.สมปองแล้วและท่านไม่ขัดข้องแต่ประการใด ข้อมูลดีๆอย่างนี้รู้แล้วเก็บไว้คนเดียวไม่ดีแน่
ท่านอาจารย์ดร.สมปองเคยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานคณะทนายฝ่ายไทยในคดีประสาทพระวิหาร มีส่วนใกล้ชิดและอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเริ่มมีปัญหาขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ข้อมูลของท่านจึงแม่นยำ เชื่อถือได้
ผมขอเริ่มที่ปัญหาเขตแดน ไทย – กัมพูชาก่อน เพราะเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง
ไทยยึดถือเขตแดนโดยอ้างอิงสนธิสัญญา สยาม -ฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ. ๑๙๐๘
ระหว่างปีค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๐๗ คณะกรรมการปักปันเขตแดนผสม สยาม-ฝรั่งเศสได้ไปตรวจสอบแล้วเห็นว่า การกำหนดเขตแดนในบริเวณทิวเขาดงรักโดยใช้สันปันน้ำเป็นหลัก ตามสนธิสัญญาทวิภาคีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ นั้นชัดเจนอยู่แล้ว เสันสันปันน้ำจึงเป็นเส้นกำหนดเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอดและไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขมาตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๐๔ จนถึงปัจจุบันโดยไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้งหรือให้ความเห็นเป็นอย่างอื่น
(สำหรับท่านผู้อ่านที่อาจไม่เข้าใจว่าสันปันน้ำหมายถึงอะไร ให้นึกภาพเทือกเขาครับ แนวสูงสุดของเทือกเขาที่เมื่อฝนตกแล้ว น้ำฝนแยกไหลลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่าทั้งสองด้านคือสันปันน้ำ เป็นการแบ่งโดยธรรมชาติว่าด้านไหนเป็นเขตไทย ด้านไหนเป็นเขตกัมพูชา สันปันน้ำเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา เป็นหินที่แกร่งและอยู่ได้ตลอดไป)
ส่วนกัมพูชาใช้แผนที่ผนวก ๑ ที่ใช้แนบท้ายคำฟ้องคดีปราสาทพระวิหารเป็นแผนที่กำหนดเขตแดน
ปัญหาของไทย-กัมพูชาที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนบริเวณเทือกเขาดงรักมีสองเรื่องใหญ่ สองช่วงเวลา
ช่วงแรกคดีปราสาทพระวิหาร ไทย-กัมพูชา พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๕
วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ กัมพูชาเป็นโจทก์ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเพื่อฟ้องไทยเป็นจำเลย ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พื้นที่ที่ประสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
(ท่านอาจารย์สมปองหยิบยกประเด็นที่พวกเราควรทราบไว้ด้วยว่า คำฟ้องของเขมรกล่าวถึงเฉพาะพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่พื้นที่เขาพระวิหาร จากนี้ไปทุกครั้งเมื่อพูดถึงคดีปราสาทพระวิหาร ห้ามพูดว่าคดีเขาพระวิหาร หรือคดีปราสาทเขาพระวิหารเป็นอันขาด)
เนื้อหาจากนี้ไปค่อนข้างจะสำคัญ
เขมรขอให้ศาลฯวินิจฉัย ๕ ประเด็นสำหรับคดีปราสาทพระวิหารครับ
๑. สถานะภาพของแผนที่ผนวก ๑ แนบท้ายคำฟ้อง (เป็นแผนที่ที่ทำขึ้นโดยฝรั่งเศสและ/หรือกัมพูชาโดยไทยไม่มีส่วนร่วมด้วยเลยแม้แต่ฉบับเดียว จึงมีความผิดพลาดโดยอำนวยประโยชน์ให้ผู้จัดทำคือฝรั่งเศสและนำความเสียหายมาสู่ประเทศไทย) ท่านอาจารย์สมปองกล่าวด้วยว่า ไทยมิได้เคยยอมรับในอดีตและไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะยอมรับแผนที่ที่กัมพูชานำมาอ้างอิงในปัจจุบันไม่ว่าในกรณีใด
๒. ความถูกต้องของเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่ผนวก ๑
ทั้งข้อ ๑ และ ข้อ ๒ ศาลงดเว้นการวินิจฉัยความถูกต้องของเส้นเขตชายแดน ศาลไม่ได้ทำหน้าที่กรรมการปักปันเขตแดนครับ
๓. ชี้ขาดว่าพื้นที่ที่ประสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้น อยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา
ศาลวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
๔. ให้ไทยถอนกำลังออกจากตัวปราสาทและบริเวณที่ตั้งปราสาท
ศาลวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ว่าไทยมีพันธะกรณีจะต้องถอนทหาร ตำรวจหรือยามรักษาการณ์ออกจากปราสาทพระวิหาร หรือบริเวณใกล้เคียงที่อยู่บนดินแดนเขมร
๕.ให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่สูญหายไปจากปราสาทพระวิหารเมื่อปี ค.ศ. ๑๓๕๐ – ๑๙๖๒
ศาลวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง ๗ ต่อ ๕ ว่าไทยมีพันธะจะต้องคืนให้กัมพูชา บรรดาวัตถุที่กัมพูชาอ้างถึง
สำหรับจุดยืนและท่าทีของประเทศไทยภายหลังคำพิพากษาของศาลฯมีดังนี้ครับ
ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฯ โดยเห็นว่ามิได้เป็นการพิจารณาวินิจฉัยคดีตามกระบวนการที่ชอบ ขัดต่อหลักยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตามในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ จึงได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ ๙๔ ของกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งนี้โดยยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติ และตั้งข้อสงวนไว้อย่างชัดเจนว่า ไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืนซึ่งการครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี (หนังสือว่าด้วยข้อสงวน ยังมีผลบังคับจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการขาดอายุความ)
ก่อนจะเดินหน้าต่อไปยังปัญหาที่สอง มีประเด็นที่พวกเรา (โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย) ต้องท่องกันให้ขึ้นใจครับว่า ไทยเรายืนหยัดเส้นแบ่งเขตแดนไทย-กัมพูชาที่สันปันน้ำเท่านั้น เพราะฉะนั้นพื้นที่ทับซ้อน(ที่มีความหมายว่าทั้งไทยและเขมรแย่งกันเป็นเจ้าของ) จะมีเฉพาะพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารเท่านั้น (เขมรได้ครอบครองโดยคำวินิจฉัยของศาลโลกแต่ไทยยังสงวนสิทธิอยู่) ส่วนพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่แบ่งโดยสันปันน้ำ เราถือเป็นดินแดนของประเทศไทยทั้งสิ้น
ช่วงที่สองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ประเด็นในส่วนนี้ไม่สลับซับซ้อนมากนัก
กัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก คำขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชานี้ได้อ้างอิงคำพิพากษาของศาลในคดีปราสาทพระวิหารอย่างผิดพลาด โดยอ้างว่าศาลรับรองแผนที่ผนวก ๑ ท้ายคำฟ้องของกัมพูชาว่าเป็นแผนที่ที่ถูกต้อง (ข้อเท็จจริงคือศาลโลกมิได้มีการวินิจฉัยเรื่องเขตแดน)
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐบาลไทยในขณะนั้นโดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ และกรมแผนที่ทหารได้พร้อมใจกันยอมรับนับถืออำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร โดยการออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา
แถลงการณ์ร่วมนี้ เป็นเอกสารประกอบการเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยกัมพูชาฝ่ายเดียว โดยไทยให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่
ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทย และรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ลงนามย่อไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑
อ่านทั้งหมดแล้วพอจับประเด็นสั้นๆได้ว่า
๑. ปัญหาเขตแดนไทย – กัมพูชา ไทยยึดถือสนธิสัญญา กัมพูชายึดถือแผนที่ผนวก๑ที่ใช้แนบคำฟ้อง
๒. ศาลโลกไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเขตแดน แต่กัมพูชานำไปใช้อ้างอิงอย่างผิดพลาดในคำขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก
๓. รัฐบาลไทยยุคก่อนหน้านี้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาตามข้อ ๒. เท่ากับเป็นการยอมรับเส้นแบ่งเขตดินแดนตามแผนที่ผนวก ๑ โดยปริยาย
งานหนักของรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์คือการแก้ไขปัญหาจากข้อผิดพลาดจากรัฐบาลในอดีต โดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งเท่านั้น เป็นอื่นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด
(ผมนำเนื้อหาจากบทความ ๒๙ หน้า มาย่อโดยนำประเด็นที่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านที่อาจไม่มีเวลาเข้าไปดูลึกในรายละเอียด ศาสตราจารย์ดร. สมปองท่านเขียนไว้ทั้งหมด ๘ เรื่อง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๓ ครับ)