รถไฟไทย-จีน What took you so long !
ผ่านสภาแล้วครับ กรอบการเจรจารถไฟไทย – จีน ที่ประชุมของสภาร่วมได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ระหว่างการอภิปรายมีคำถามและข้อท้วงติงมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาตามรูปแบบของรัฐสภาไทย
และแน่นอนว่าที่ขาดไม่ได้ของการอภิปราย คือข้อกล่าวหาการรับสินบนมูลค่า ๕๐๐ ล้านบาท เสมือนกับว่า ถ้าไม่ได้พูดเรื่องอย่างนี้ การอภิปรายจะดูว่าจืดชืดเกินไป ไม่ต้องสนกันล่ะว่าใครจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน
เมื่อรัฐบาลมีกรอบการเจรจาอยู่ในมือ งานต่อไปคือเดินหน้าเจรจากับประเทศจีน ต้องคุยกันถึงขั้นตกลงกันให้ได้ว่าประเทศไทย – ประเทศจีน จะร่วมมือกันอย่างไรในการพัฒนาระบบการเดินรถไฟของไทยให้ทันสมัย เมื่อได้พูดจาจนเกิดความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว ต้องทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร ถือเป็นบันทึกกันลืมที่เราเรียกกันว่า MOU (Memorandum Of Understanding) ครับ
รัฐธรรมนูญใหม่ของเราเคร่งครัดในเรื่องนี้ ก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มเจรจาความกับประเทศใด ต้องนำกรอบการเจรจาให้สภาเห็นชอบก่อน แล้วถึงเริ่มเจรจาได้ เมื่อตกลงเป็นที่เรียบร้อย จะลงนามใน MOU ทันทีไม่ได้ ต้องนำร่าง MOU ส่งให้สภาดูอีกครั้ง สภาจะพิจารณาว่าฝ่ายบริหารได้เจรจานอกกรอบจากที่มอบให้หรือไม่ หรือ เจรจาแล้วดูท่าว่าประเทศอาจเสียเปรียบ สภามีสิทธิ์ไม่เห็นด้วยและไม่ให้ความเห็นชอบ MOU ก็ย่อมได้ ถ้าเกิดเหตุอย่างนั้น ฝ่ายบริหารต้องนำประเด็นกลับไปเจรจาใหม่ครับ
สภาจะปิดประชุมสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเปิดอีกครั้งปลายเดือนมกราคมปีหน้า รัฐบาลคงจะเจรจาแล้วนำ MOU กลับมาให้สภาพิจารณาไม่ทันในสมัยประชุมครั้งนี้ ต้องรอต้นปีหน้า ถ้ามีการยุบสภา รัฐบาลใหม่ก็ต้องรับลูกต่อไป
การเจรจาเพื่อให้ได้ MOU จะใช้เวลานานหรือไม่อย่างไร ตอบได้ว่าถ้ารัฐบาลมีความพร้อมและเตรียมตัวไว้ดี การเจรจาก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปนัก
ก่อนการเจรจารัฐบาลต้องทำความเข้าใจคู่เจรจาคือ จีน เหมือนกันว่าจีนคิดอะไรในใจ อาจเริ่มต้นโดยดูจากข้อตกลงที่จีนได้ลงนาม MOU ไว้แล้วกับลาวก็ได้ครับ
ประเด็นสำคัญของข้อตกลง MOU ลาว – จีน คือความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ทั้งสองฝ่ายตกลงถือหุ้นฝ่ายละ ๕๐% ลาวใช้ที่ดินบนเส้นทางเดินรถไฟตีเป็นมูลค่าหุ้น ส่วนจีนรับผิดชอบส่วนที่เหลือ ขาดทุนหรือกำไร จากการบริหารโดยบริษัทร่วมทุน ผู้ถือหุ้นแบ่งตามสัดส่วนของการลงทุน ในกรณีนี้คือฝ่ายละครึ่ง ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
MOU ระหว่างไทยและจีน คงจะไม่เหมือน MOU ลาว – จีน เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของไทยและลาวต่างกันพอสมควร ในเบื้องต้นผมเชื่อว่าการตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นแนวทางที่น่าสนใจ เป็นการมีข้อผูกพันที่ชัดเจน ผมอยากเห็นไทยถือหุ้นมากกว่าจีนเล็กน้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ส่วนเงินลงทุนค่าหุ้นน่าจะเป็นเงินสดด้วยกันทั้งสองฝ่าย มีความคล่องตัว ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเสียเวลาประเมินทรัพย์สิน ประเด็นอื่นๆที่ต้องเจรจามีอีกมากครับ แต่เร็วเกินไปที่จะมาพูดคุยให้ฟังในขณะนี้
หลักคิดในการเจรจาคือต้องเป็นหุ้นส่วนกันอย่างแท้จริง ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ คู่เจรจาต้องไม่คิดว่าจะเจรจาให้ได้เปรียบ แต่ต้องยึดหลักว่าถ้างานนี้สำเร็จ ถ้าได้ก็ได้ด้วยกันและถ้าเสียหาย โครงการขาดทุนก็ช่วยกันแบ่งรับภาระ
การเจรจากรอบความร่วมมือในครั้งนี้จะเน้นไปในเรื่องของรูปแบบการลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของที่มาของแหล่งเงินทุน และเงินที่ต้องกู้มาเพื่อใช้ในการบริหารและการก่อสร้าง รวมถึงเรื่องของสิทธิในการเดินรถไฟและระยะเวลา เรื่องของเส้นทางคงจะต้องนำผลการศึกษาเบื้องต้น ( Feasibility Study ) ซึงจะมีการดำเนินการทันที มาประกอบในการพิจารณา แต่เชื่อว่าระยะแรกหนีไม่พ้น หนองคาย-กทม.
ความสำคัญของการรถไฟไทย การมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทไทย-จีนใหม่ไปยังการรถไฟไทย รวมทั้งแนวคิดของการให้บริการที่เสริมประโยชน์ของกันและกันในทางธุรกิจ เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เป็นอันขาด
ผู้ที่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาครั้งนี้คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงต่างประเทศ และฝ่ายความมั่นคง งานนี้เกี่ยวข้องหลายกระทรวง ไม่ใช่เพียงกระทรวงหนึ่งกระทรวงใด ดูแล้วการเจรจาครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ไม่น่าจะเกินความสามารถของรัฐบาล
เรื่องการเจรจาคงจะคุยให้ฟังในเบื้องต้นได้เท่านี้ครับ อยากจะเล่าที่มาที่ไปของโครงการรถไฟไทย – จีน ซักเล็กน้อย มีหลายท่านที่สงสัยว่าอยู่ดีๆโครงการนี้โผล่มาได้อย่างไร
ขอเริ่มจากช่วงที่ผมรับผิดชอบงานเป็นรองนายกฯดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ผมเดินทางไปเมืองจีนกับท่านนายกฯกลางปี ๒๕๕๒ ได้พบและได้หารือราชการกับรัฐมนตรีรถไฟของจีน วันนั้นผมทำหน้าที่แทนท่านรองฯสุเทพ (ท่านรองฯสุเทพคุมกระทรวงคมนาคม) ได้หารือกันหลายเรื่องแต่ไม่ปรากฏว่ามีการสานต่อที่ชัดเจน ผมเองก็เปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบมาเป็นเลขาธิการนายกฯ
ช่วงกลางปีที่ผ่านมาทราบว่าท่านรองนายกฯสุเทพจะไปจีน จะไปคุยเรื่องรถไฟต่อจากที่ผมคุยไว้ (ผ่านมาเกือบปี) ผมจึงเรียนท่านรองฯสุเทพให้ลองเจรจาเรื่องการต่อเชื่อมเส้นทางที่จีนกำลังจะสร้างจากคุนหมิงมาถึงเวียงจันทน์ ว่าจีนสนใจไหมถ้าเราพร้อมให้มีการต่อเชื่อมลงไปถึงประเทศมาเลเซีย ท่านรองนายกฯถูกอกถูกใจและบอกว่าจะพยายามเจรจาอย่างเต็มที่
ท่านรองนายกฯสุเทพกลับจากจีน รีบนำเรื่องเข้าครม. รายงานความสำเร็จของการเจรจาและขอให้เป็นมติครม. มอบให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อเจรจากับประเทศจีน ผมตั้งตัวไม่ติดเหมือนกัน แต่ก็รับปากว่าจะรับทำหน้าที่เฉพาะช่วงของการเจรจาความร่วมมือเท่านั้น
ฝ่ายของรัฐบาลจีนพอทราบว่าคณะรัฐมนตรีของท่านนายกอภิสิทธิ์ได้ให้ความเห็นชอบในแนวความคิด ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่มาไทยในทันที เป็นทีมเดียวกับที่ได้เจรจากับประเทศลาวครับ หลังจากนั้นได้มีการหารือกับคณะของผมสามครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการ การพูดคุยเบื้องต้นทำให้ได้กรอบการเจรจานำเข้าสภาแบบที่ทราบกันอยู่แล้ว
แนวทางการพัฒนาประเทศของจีนน่าสนใจครับ ถ้าวิเคราะห์ให้ดีแล้วจะเห็นว่าจีนคิดและทำงานอย่างเป็นระบบ คงจะต้องหมุนเทปม้วนนี้กลับไปเริ่มในปีที่จีนเข้าครอบครองเกาะฮ่องกง วันนั้นโลกเริ่มเข้าใจในแนวความคิดของจีนมากขึ้นว่า จีนพร้อมที่จะเดินหน้าระบอบการเมืองของจีนให้สามารถอยู่ร่วมกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้
จีนทุ่มเงินเพื่อพัฒนาประเทศเป็นขั้นเป็นตอน สร้างถนน สร้างเมือง สร้างระบบขนส่งแบบราง เริ่มดำเนินการเป็นระยะๆ ทุก ๑๐-๑๕ ปี เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายความเจริญออกไปสู่ชนบท
จีนเริ่มต้นด้วยการสร้างเส้นทางคมนาคมส่วนที่เป็นถนน จำได้ว่าในขณะนั้นนักวิเคราะห์หลายสำนักพูดเยาะเย้ยว่า จีนสร้างถนนใหญ่โตสำหรับแค่ให้รถจักรยานวิ่ง วันนี้ถนนที่ว่าใหญ่โตดูว่าจะไม่พอรองรับจำนวนรถที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน
ต่อมาจีนเริ่มสร้างเมืองครับ เปรียบกันไปไกลและไม่ผิดนักที่จะบอกว่า ประเทศจีนมีเมืองขนาดใหญ่เท่าชิคาโกของสหรัฐเกิดขึ้นในประเทศจีนเดือนละ ๑ เมือง อีกครั้งที่คนเริ่มนินทาว่าอีกไม่นานเมืองเหล่านี้จะเป็นเมืองร้าง คงต้องรอดูกันต่อไป
ช่วงนี้จีนสร้างทางรถไฟครับ ครอบคลุมทั้งประเทศ จีนต้องการนำความเจริญจากเมืองใหญ่ไปสู่ชนบทและไม่มีวิธีไหนจะดีไปกว่าการคมนาคมโดยระบบราง รถไฟของจีนเป็นรถไฟที่ทันสมัย ใช้หัวรถขบวนเป็นระบบไฟฟ้า สอาดและประหยัดพลังงาน ถ้าขนส่งสินค้าก็จะวิ่งด้วยความเร็ว ๑๒๐ กม/ชม ขนส่งผู้โดยสารความเร็วจะได้ถึง ๒๐๐ กม/ชม ส่วนรถไฟที่มีหัวขบวนคล้ายหัวจรวดที่เรียกว่า bullet train นั้น วิ่งเร็วเกินกว่า ๓๐๐ กม/ชม
การขนส่งทางรางระบบแบบนี้แหละครับที่รัฐบาลไทยจะเริ่มเจรจาและนำมาใช้ในประเทศเรา หนองคายผ่านกรุงเทพฯถึงปะดังเบซาร์จะเป็นระบบรางแบบความเร็วสูงปกติคือ ๒๐๐ กม/ชม ส่วนเส้นกทม.- ระยอง คุ้มค่าที่จะเป็น bullet train ก็น่าทำ แต่ถ้าคิดว่าวิ่งแค่ ๒๐๐ กม/ชม พอแล้ว ค่าโดยสารจะได้ถูก เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตัดสินใจต่อไป
พอจะมองภาพออกแล้วนะครับ เส้นทางรถไฟจากคุนหมิง มาเวียงจันทร์ ข้ามสะพานแม่น้ำโขง สถานีแรก หนองคาย-อุดรธานี-ขอนแก่น-โคราช-กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ไปจบที่สิงค์โปร์
ประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะขบวนรถไฟขบวนนี้วิ่งผ่านพื้นที่ของเรากว่า ๑,๖๐๐ กม. นักท่องเที่ยวผู้โดยสารแวะลงสถานีไหน จังหวัดไหน สร้างงานสร้างรายได้ให้จังหวัดนั้นๆ อย่างแน่นอน ขบวนสินค้าวิ่งผ่านจังหวัดใดสินค้าของจังหวัดนั้นจะมีช่องทางระบายออกสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผมถึงออกอาการทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่อาจทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไป เสียดายโอกาสของประเทศครับ