กองทุนมั่งคั่ง ( จบ ) – The solution
พตท.ทักษิณคิด รัฐบาลทำ ว่าแล้วรัฐมนตรีคลังก็เดินหน้าเพื่อจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งทันที ประชุมร่วมกับธปท.ครั้งแรก รมว.คลังสั่งการให้ธปท.ศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนแล้วรายงานผลภายใน 1 เดือน สองวันผ่านไปผู้ว่าการธปท.ให้สัมภาษณ์ว่าไม่อยากขัดใจคลัง จะทำให้แล้วเสร็จแล้วนำเสนอตามกำหนดเวลา
“การตั้งกองทุนจะยืมเงินสำรองเงินตราต่างประเทศของ ธปท. ส่วนหนึ่งมาทำเป็นบัญชีย่อยลงทุนหาผลประโยชน์ หากกำไรก็ตกเป็นของรัฐบาล และหากขาดทุนก็ต้องตั้งเงินงบประมาณแผ่นดินมาชดใช้ความเสียหาย” นายธีระชัย รมว.คลังกล่าว
แปลว่าถ้าลงทุนแล้วมีกำไร รัฐบาลจะเอาไป ถ้าขาดทุนก็จะเอาเงินภาษีของพวกเราไปใช้หนี้แทน (คิดได้ไงไม่รู้.. งง!)
ถามต่อว่าจะไปลงทุนที่ไหน ก็จะได้คำตอบว่ารัฐบาลจะนำเงินของกองทุนไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเซีย คงไม่ได้หมายถึงประเทศจีน ญี่ป่น เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เพราะประเทศเหล่านี้เชื่อว่าไม่ต้องพึ่งเงินกองทุนของเรา ผมว่ารัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้ว ไม่น่าพลาดถ้าจะเดาว่าคงจะลงทุนโครงการในประเทศ เขมร พม่า ลาว เวียตนาม อินโดนิเซีย ทำนองนี้แหละ
ท่านผู้อ่านว่าผมเดาถูกไหม ถูกหรือผิดอีกไม่นานความจริงจะปรากฎ
ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งกองทุนมั่งคั่ง ผมไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินสำรองของประเทศไปลงทุนในประเทศแถบเอเซียหรือลงทุนที่ไหนก็แล้วแต่ ผมฟันธงไปแล้วด้วยซ้ำว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย ประชาชนมองไม่ออกว่าตัวเขาเองหรือแม้แต่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร แม้จะคิดในทางบวก ประโยชน์ที่ได้รับอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงของการลงทุน จะคุ้มสุดคุ้มก็ต่อเมื่อท่านเป็นประชาชนคนไทยระดับพิเศษที่มีเอี่ยวในโครงการเหล่านี้ เท่านั้น
ท่านผู้อ่านลองพิจารณามุมมองนี้ดู
ทำไมคนที่รวยจริงถึงกล้าลงทุนและมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองมากกว่าคนที่รวยปลอม รวยจากเงินหมุน รวยจากเงินยืม ตอบง่ายๆครับ เพราะสายป่าน (ของเศรษฐีตัวจริง) ยาวครับ ทำงานพลาดแล้วขาดทุนก็ไม่กังวล ยังมีเงินก้นกระปุกเหลือมากพอที่จะเป็นเกราะป้องกัน รอโอกาสฟื้นกลับใหม่ได้โดยไม่เดือดร้อน
ประเทศก็ไม่ต่างกันครับ ประเทศที่มีรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำเช่น ซาอุฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์ ฯลฯ ร่ำรวย มีเงินกำไรมากเหลือเฟือ ลงทุนพลาดอย่างไรก็ยังสู้ไหวเพราะทุนเงินสำรองที่นำมาใช้พอกพูนขึ้นทุกวันจากรายได้ในการส่งออกน้ำมัน
กองทุนมั่งคั่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ย่อว่า ADIA เสียหายจากการลงทุนยับเยินผลพวงจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ มูลค่าของกองทุนลดลงมาอยู่ที่ $342 billion แต่ก็ยังไม่หมดเนื้อหมดตัว เพียงแค่ตกอันดับจากเป็นกองทุนใหญ่สุดของโลกมาเป็นอันดับรอง วันนี้กองทุน ADIA โดนกองทุนจากประเทศนอร์เวย์แซงหน้ากลายเป็นกองทุนอันดับหนึ่งด้วยเงินกองทุนมูลค่า $560.5 billion ไปแล้ว
กองทุนมั่งคั่งของประเทศสิงค์โปร์ที่พวกเรารู้จักกันดีในนามเทมาเส็ก ก็เสียหายจากการลงทุนในปี 2009 มูลค่ากองทุนหายไป $39.0 billion แต่วันนี้ก็สามารถกลับมายืนใหม่ได้อย่างดี
ประเทศเหล่านี้รวยจริง เข้มแข็งจริง สายป่านยาว ตัดสินใจพลาด ลงทุนแล้วเสียหายก็ไม่ต้องวิ่งหาเงินจากภาษีที่เป็นหยาดเหงื่อของประชาชนเจ้าของประเทศไปใช้หนี้
สงสารความคิดของคนที่พูดออกมาว่า ถ้าขาดทุนก็จะนำเงินภาษีของพี่น้องประชาชนไปใช้หนี้แทน สายป่านเราสั้นนิดเดียว สภาพของเราในวันนี้อาจเปรียบได้ว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว”
ความจริงมีทองเท่าหนวดกุ้ง ถ้าบริหารเป็นก็สามารถนำประโยชน์มาให้กับประเทศ ให้กับคนไทยโดยส่วนรวมได้ โดยไม่ต้องมีนโยบายฟุ้งซ่าน คิดตั้งกองทุนมั่งคั่งให้เสียความรู้สึก
ข้อเสนอของผมมีอย่างนี้ครับ (ส่วนตัวนะครับ)
1. ชะลอการไหลเข้าของเงินกู้จากต่างประเทศ โดยกำหนดเป็นนโยบายว่าจากนี้ไป ภาคเอกชนหรือภาครัฐฯถ้าต้องการกู้เงินขอให้ลดหรือชะลอการกู้เงินจากต่างประเทศ กระทรวงการคลังออกมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนใช้เงินกู้ในประเทศเป็นหลัก
2. ภาคเอกชน ภาคราชการ ถ้าต้องใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อสั่งซื้อสินค้า เครื่องจักรกล รัฐฯส่งเสริมให้ใช้เงินบาทในประเทศแล้วนำไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศ (จากเงินสำรอง เท่าหนวดกุ้ง) เป็นนโยบายที่เรียกว่าเป็นการ ”draw down” เงินสำรอง หมายความว่าเป็นการนำเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศแลกเป็นเงินบาท เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการในประเทศ ประเทศไทยได้ประโยชน์ คนไทยได้ประโยชน์
3. นโยบายจูงใจในส่วนของภาคเอกชนตามข้อ 2) ถ้าภาคเอกชนต้องการเงินกู้ รัฐฯมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Exim Bank) เป็นพี่ใหญ่ ปล่อยกู้เพื่อการนำเข้า ดอกเบี้ยอัตราจูงใจ ตรงนี้ต้องแก้กฎหมายให้ธปท.รับจ๊อบเพิ่ม คือให้ธปท.สามารถจัดหาเงินทุนปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำสุดให้ Exim Bank นำไปปล่อยกู้ต่อ ผมว่าแก้กฎหมายตรงนี้ง่ายกว่าการเสนอร่างกฎหมายเพื่อตั้งกองทุนมั่งคั่งนะ
4. ถ้าตลาดเงินตึงตัวเพราะเงินบาทมีไม่เพียงพอ กู้กันมากเกินไป (เลิกกู้ต่างประเทศ) มีทางแก้เพราะงานนี้ธปท.ถนัดอยู่แล้ว ช่วงที่พยุงค่าเงินบาท ธปท.ดูดซับเงินออกจากระบบโดยการออกพันธบัตร (เสียค่าดอกเบี้ยจนจะหมดเนื้อหมดตัวอยู่ทุกวันนี้) ตรงนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสดีของธปท.ที่จะสามารถควบคุมปริมาณเงินได้เป็นอย่างดี ช่วยให้นโยบายการเงินของธปท.ในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อมีประสิทธิภาพดีขึ้นไปอีก
หลักคิดข้อเสนอของผมตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า เราต้องชะลอการไหลเข้าของเงินไม่ให้มากจนเกิดปัญหา ค่าเงินบาทก็จะไม่แข็งเกินจริง ธปท.ไม่ต้องเสียเวลาไปกับมาตรการแทรกแซง เสียค่าใช้จ่ายมาก แถมต้องมากังวลว่า เงินสำรองที่มากขึ้นจะบริหารไม่ให้ขาดทุนได้อย่างไร
ขณะที่กำลังนั่งจิ้มคีย์บอร์ด Mac Air ตัวโปรด ได้ข่าวว่ารมว.คลังเปลี่ยนใจ ไม่ร้อนรนที่จะจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแล้ว
โล่งอกไปหนึ่งเรื่อง สัปดาห์หน้าเห็นทีต้องคุยให้ฟังเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ข่าวเช้านี้ว่ารองนรม.หัวหน้าทีมเศรษฐกิจหงุดหงิดที่ถูกตั้งฉายาว่า”ดีแต่โม้” เข้าใจว่าจะลุยโครงการรับจำนำอย่างแน่นอนในเร็ววันนี้ อยากหาว่าโม้เลยต้องทำให้เกิดได้จริง
หวังว่าสิ่งที่คุยมาทั้งหมด 3 ตอนด้วยกัน น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องของเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศ สมบัติเท่าหนวดกุ้งของพวกเรา ได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ