กองทุนมั่งคั่ง ( 2 ) – At the crossroad
เมื่อวานแตะไปนิดว่าเงินทุนสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศของเรามูลค่ากว่า $180,000 ล้านนั้น ไม่ได้มาจากการค้าการขายที่เป็นกำไรทั้งหมด มีส่วนอื่นปะปนอยู่ วันนี้จะบอกว่ามีอะไรบ้าง ใครที่คิดว่าเรารวยจังคงจะใจฝ่อลงไปบ้างเล็กน้อยครับ
นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินมาเล่นหุ้น นำเงินมาซื้อพันธบัตร นำเงินมาให้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือธุรกิจภาคเอกชนกู้ ต้องนำเงินสกุลของเขามาแลกเป็นเงินบาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญาหรือบางครั้งก่อนกำหนดด้วยซ้ำ เขาอาจต้องการถอนเงินกลับ เมื่อถึงเวลานั้นธปท.ต้องใช้เงินสำรองนี้แลกคืน เงินตราต่างประเทศส่วนนี้ไม่ใช่กำไรของเรา
ทุกครั้งที่ค่าของเงินบาทแข็งเกินไป ธปท.จะสร้างดีมานด์เทียม นำเงินบาท (พิมพ์เองก็มี) มาซื้อเงินดอลล่าห์ เป็นการแทรกแซงเพื่อบริหารค่าเงิน เงินดอลล่าห์ส่วนนี้ก็ไม่ใช่เงินกำไรของเราเพราะท้ายที่สุดเมื่อจังหวะเหมาะสม ธปท.ก็ต้องแลกเงินส่วนนี้ ( unwind ) กลับสู่สภาพเดิม ตัวเลขที่เรียกว่า forward เป็นตัวเลขที่เปิดเผยเพื่อบอกถึงสถานะของการใช้เงินแทรกแซง ว่าธปท.ใช้เงินแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไปแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่ มูลค่า forward ณ.เดือนกรกฎาคม 2554 อยู่ที่ $26,417 ล้าน ( สูงมากถึงกว่า 7 แสนล้านบาท )
ยังไม่นับทองคำที่มีเก็บสะสมไว้ มูลค่า ณ.เดือนกรกฎาคม 2554 อยู่ที่ $6,663.88 ล้าน ( ประมาณ 200,000 ล้านบาท )
เมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว เราอาจมีเงินสำรองเพียง $100,000 ล้าน ไม่ใช่ $180,000 ล้าน อย่างที่เข้าใจก็เป็นได้ คณะกรรมการและผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีตัวเลขที่แม่นกว่าผมมาก
แต่ถึงแม้ว่าเงินสำรองบางส่วนเป็นเงินกำไรจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปถลุงอย่างไรก็ได้ เพราะมีกฎ มีระเบียบ มีแนวปฎิบัติที่ต้องทำตาม เช่น ต้องมีเงินสำรองเตรียมไว้สำหรับการนำเข้าสินค้าอย่างน้อย 6 เดือนของมูลค่าสินค้านำเข้า เงินส่วนนี้แตะไม่ได้ และยังต้องมีเงินสำรองมากพอที่จะใช้ในการดูแลค่าเงินบาทของเราอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ควรแตะอีกเช่นกัน
อ่านถึงตอนนี้คงจะเข้าใจกันแล้วนะครับว่าเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศนั้ัน ส่วนหนึ่งมีภาระผูกผัน นำไปใช้ลงทุนในรูปแบบตามใจนึกไม่ได้ คำถามวันนี้คือจะนำไปลงทุนแบบไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ใครรับผิดชอบ และแน่นอนคือเพื่อประโยชน์ของใคร
ก่อนที่จะมองหาคำตอบ อาจต้องสำรวจเศรษฐกิจโลก และนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเสียก่อน
สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับปัญหาที่ยังไม่มีทางออกติดต่อมาตั้งแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2551 คนอเมริกันจำนวนกว่าร้อยละ 9 ไม่มีงานทำ ไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว หนี้ของประเทศฯอาการยิ่งหนัก อยู่ในระดับสูงมาก สูงเกินกว่าที่จะชำระคืนเจ้าหนี้ได้
อี ยู กำลังปวดหัวกับปัญหาหนี้ที่รัฐบาลประเทศสมาชิกก่อไว้และมีแนวโน้มว่าจะไม่มีปัญญาชำระหนี้ให้ครบได้ ปัญหานี้เริ่มลุกลามแพร่เชื้อไปอีกหลายประเทศ
จีนแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ได้ผลกระทบจากวิกฤติของสหรัฐโดยการใช้เงินของตนเอง ลงทุนเพื่อสร้างงานในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานมากเกินไป ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ซ้ำเติมด้วยรายได้จากการส่งออกที่ลดน้อยลง (ดัชนีตัววัดคำสั่งซื้อสินค้าลดลงจาก 50.4 เป็น 48.3 ช่วงเดือนกรกฎาคม ตัวเลขใกล้เคียงกับเมื่อเดือนเมษายนปี 2009)
จะลงทุนแบบไหน อย่างไร เมื่อไหร่ จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญมากๆ
ถามง่ายๆ ก่อนว่าสภาพปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นอย่างนี้แล้ว ยังคิดจะนำเงินสำรองที่มีไม่มากนักไปลงทุนให้เสี่ยงโดยไม่จำเป็นด้วยหรือ ก็คงถกเถียงกันไป ส่วนใหญ่ก็คงจะมองกันคนละมุม แต่ก่อนจะตอบว่าจะตั้งกองทุนหรือไม่ตั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องตอบเจ้าของเงินก่อนว่าทำไมถึงรีบร้อนถึงขนาดนี้
ไม่มีความเร่งด่วนใดๆ ที่รัฐบาลฯ ที่รัฐมนตรีฯจะไปวุ่นวายกับงานของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จังหวะเวลาและความเหมาะสมไม่มีด้วยประการทั้งปวง อาจใช้คำพูดของเพื่อนเฟชบุ๊คเจ้าของเงินท่านหนึ่งที่ส่งข้อความมาว่า…”เงินเก็บไว้ในคลังมันจะบูดหรือคะถึงต้องนำมาถลุงเล่น”…
ผมจึงกล้าฟันธงได้เลยว่าประชาชนเจ้าของเงินส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้ท่านรัฐมนตรีฯเร่งดำเนินการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งโดยเร็วอย่างแน่นอน เพราะอะไรครับ ตอบง่ายๆว่า ประชาชนเขายังมองไม่ออกว่าเขาจะได้อะไรจากงานเร่งด่วนชิ้นนี้
วันนี้ประชาชนเขาเดือดร้อนหลายเรื่อง เขากังวลว่ากระทรวงการคลังเก็บเงินภาษีจากเขาไปแล้ว จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือเปล่า ระบบภาษีจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือไม่ คลังเร่งหาแหล่งเงินเพื่อนำมาช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมได้มากน้อยแค่ไหน ปัญหาพื้นฐานง่ายๆอย่างนี้ที่เจ้ากระทรวง ไม่ว่าจะเป็นใคร ถือเป็นหน้าที่หลักที่ต้องดูแลรับผิดชอบ
ความจริงแล้วงานของกระทรวงการคลังในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรม การป้องกันการทุจริตในการใช้เงินภาษีของหน่วยงาน ปัญหาประสิทธิภาพการบริหารของรัฐวิสาหกิจที่ยังแก้กันไม่ได้เสียที แค่สามเรื่องเหนาะๆนี่รัฐมนตรีฯก็เหนื่อยตัวเป็นเกลียวแล้ว
คำตอบชัดครับว่า 1 ) ไม่ต้องร้อนรน ไม่ใช่เรื่องด่วน
และ 2 ) ตั้งกองทุนหรือไม่ตั้ง ปล่อยให้เป็นงานของธปท.ที่เป็นผู้ดูแล เป็นงานที่เขารับผิดชอบโดยตรงตามกฎหมาย
เขียนถึงตรงนี้แล้วปรากฎว่ายังมีท่านผู้อ่านที่เชื่อว่าการตั้งกองทุนเป็นประโยชน์ เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีเงินสำรองมากเกินความจำเป็น ผมก็จะบอกว่า ไม่ต้องตั้งกองทุนก็ยังทำให้เกิดประโยชน์ได้และประชาชนคนไทยได้ประโยชน์โดยตรงอีกด้วย
คงต้องเก็บไว้อ่านตอนสุดท้ายกลางสัปดาห์ครับ