ดอกเบี้ย – เจ้าตัวแสบ
ใครบ้างที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ โปรดยกมือขึ้น นี่ถ้าผมใช้ skpye คุย คงได้เห็นมือแฟนๆเฟซบุ๊คโผล่พรึบพรับแน่ทีเดียว
แล้วเคยรู้สึกสุดเซงไหมที่เมื่อผ่อนส่งมาได้ระยะหนึ่ง เกิดจังหวะดีมีเงินไหลเข้ามากเป็นพิเศษ อยากจะเทเงินสดจ่ายหนี้ให้หมดๆเสียที ปรากฎว่าเจ้าหนี้บอกเงินต้นยังเหลือเกือบเท่าเดิม ที่ผ่อนมาโดยตลอดนะเป็นเพียงแค่ค่าดอกเบี้ย
รัฐบาลก็มีปัญหาทำนองนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพยายามโอนรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นค่าดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทไปให้ธนาคารแห่่งประเทศไทยจ่ายแทน
ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลไทย รัฐบาลฝรั่งก็โดนดอกเบี้ยเล่นจนงอมเหมือนกัน
วิกฤตหนี้ของประเทศอิตาลีที่คล้ายๆประเทศกรีซมีพื้นฐานมาจากหนี้เงินต้น จากดอกเบี้ย รัฐบาลอิตาลีมีหนี้ค้างชำระมากทำให้ภาระการจ่ายค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกปี จัดงบประมาณของประเทศเมื่อไหร่เมื่อนั้น ต้องกู้เงินเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยทุกครั้งไป ความจริงรายได้และรายจ่ายปกติของอิตาลีไม่เลวร้าย เกือบสมดุลแบบไม่ต้องกู้ แต่ที่ต้องจัดงบประมาณขาดดุลและต้องกู้ทุกปีๆก็เพราะปัญหารายจ่ายค่าดอกเบี้ย เจ้าตัวแสบนี่ละ
ประเทศไทยละครับ
การจัดงบประมาณของบ้านเรามีรายการที่กู้มาจ่ายค่าดอกเบี้ยไม่ต่างจากคนอื่นเขา เลวร้ายกว่าไหม ท่านผู้อ่านต้องตัดสินใจเอง ผมนำตัวเลขมาให้ดูประกอบ เห็นแล้วคงมองออกว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร
เปรียบเทียบมองเห็นภาพได้อย่างนี้
งบประมาณของกระทรวงกลาโหมปี ๒๕๕๕ ตั้งไว้ที่ ๑๖๗,๔๔๖ ล้านบาท งบชำระหนี้เงินกู้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งไว้ที่ ๑๗๑,๐๐๙ ล้านบาท ( เป็นค่าเจ้าตัวแสบ ดอกเบี้ยเงินกู้ ๑๖๙,๐๗๓ ล้านบาท จ่ายเงินต้นคืนได้เพียง ๑,๓๗๘ ล้านบาทเท่านั้น )
ในปี ๒๕๕๕ รายจ่ายค่าดอกเบี้ยของประเทศไทยสูงกว่ารายจ่ายค่าปกป้องผืนแผ่นดินทีเดียว
ตัวเลขในอนาคตสาหัสสากรรจ์ครับ ปี ๒๕๕๖ วางแผนว่าต้องจ่าย ๓๖๑,๙๖๘ ล้านบาท ปี ๒๕๕๗ จ่าย ๕๕๓,๕๑๗ ล้านบาท และ ปี ๒๕๕๘ จ่าย ๔๘๖,๘๙๒ ล้านบาท ตัวเลขเพิ่มขึ้นสองถึงสามเท่า นี่ยังไม่รวมถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตามแผนกู้เงินล๊อตใหม่ของพรก.ที่ได้ออกมานะครับ
หนี้ที่เกิดขึ้นนีี้สะสมมาจากรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยแล้ว ช่วงที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เข้ามารับหน้าที่ก็ได้เห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มอบให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปทำข้อตกลงระหว่างกัน ประกาศเป็นนโยบายสำคัญว่ารัฐบาลต้องเลิกกู้เงินให้ได้ภายในสี่ปี แม้จะเป็นเรื่องยากอย่างไรก็ต้องทำให้สำเร็จ
รัฐบาล’ทักษิณคิด’มองต่างมุมครับ รัฐบาลนี้ได้ยกเลิกหนังสือข้อตกลงเพื่อเป้าหมายจัดงบประมาณสมดุลภายใน 4 ปีของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ และเดินหน้าเพื่อกู้เงินให้มากขึ้นไปอีก
กู้เงินเป็นความเลวร้ายหรือไม่ ตอบได้ทันทีว่าการกู้เงินไม่ใช่เรื่องเสียหาย การใช้เงินกู้ผิดประเภท หรือการกู้มาโกงต่างหากที่เป็นเรื่องเสียหายสุด ยังมีอีกครับ เป็นเรื่องใหม่ที่อาจเกิดความเสียหายได้เหมือนกัน เรื่องของโครงการป้องกันน้ำท่วมที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการอยู่นี่ละครับ
มุมมองของผมเป็นอย่างนี้ เราทุ่มเงิน(ที่ต้องกู้มา)จำนวนมหาศาล เพื่อเดินหน้าโครงการก่อสร้างระบบทุกระบบที่คิดขึ้นมาได้ และมั่นใจเกินร้อยว่า ฝนมาหนักเมื่อไหร่ก็ไม่มีปัญหา เอาอยู่อย่างแน่นอน แต่ฝนเจ้ากรรมไม่มาครับ ฝนดันเกิดตกมาน้อย แถมบางพื้นที่กลายเป็นภัยแล้งอีกต่างหาก จึงมีคำถามว่า ถ้าฝนไม่มา เงินที่ลงทุนในโครงการป้องกันน้ำท่วมไม่รู้กี่ล้านล้านบาททำไปทำไม ไม่ได้อะไรกลับคืนมา ประโยชน์ที่ได้รับมีแค่การสร้างงานระหว่างการก่อสร้าง ที่แน่ๆคือ ผู้รับเหมารวย นักฮั้วงานกระเป๋าตุง เท่านั้นเอง
แปลความว่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วมไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจถ้า ‘ฝนไม่มา’ เป็นการใช้เงินเพื่อเป็นหลักประกันเมื่อ ‘ฝนมาแรง’ เท่านั้น ไม่ต่างไปจากที่เราเคยจ่ายค่าเบี้ยประกันทั้งหลายนะครับ
เงินที่ลงทุนในส่วนนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเงินที่ลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเช่น โครงการก่อสร้างการขนส่งระบบราง ถนน สะพาน ที่นอกจากเกิดการสร้างงานแล้ว ยังเพื่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศควบคู่กันไปด้วย ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มในรูปแบบของเงินภาษี สามารถใช้หนี้เงินกู้คืนได้ในที่สุด
เงินที่จะกู้เป็นล้านล้านบาทเพื่อโครงการป้องกันน้ำท่วมจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยจะบานปลาย ท้ายสุดเราก็จะหนีไม่พ้นวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับหลายๆประเทศในขณะนี้ นั่นคือวิกฤตหนี้ภาครัฐบาล ปัญหาของภาครัฐฯที่ไม่สามารถหารายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำปี จนท้ายสุดไม่มีเงินที่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยจากเงินที่ได้กู้มาอย่างเมามัน
แต่เหมือนกับว่าเราไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องเดินหน้าโครงการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมอีก รัฐบาลจึงต้องฉลาดทำ ต้องหลีกเลี่ยงโครงการประเภทที่เกิดประโยชน์เฉพาะเพื่อผันน้ำเท่านั้น พยายามทำโครงการที่เป็นประโยชน์ไม่ว่าน้ำจะมาหรือไม่มา ตัวอย่างเช่นการสร้างถนนที่เป็นคันกันน้ำ อย่างนี้ดี ได้ถนนเพิ่มแถมกันน้ำได้อีก ส่วนอุโมงค์เพื่อเป็นทางระบายน้ำถ้าไม่จะเป็นก็ไม่ควรทำ อย่างนี้เป็นต้น
ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายทางการคลังด้วยความสุขุม รอบคอบ เสียงดังฟังชัด และไม่เห็นแก่หน้าใครทั้งสิ้น ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหม หน้าเหลี่ยมจากที่ไหน
จำเป็นสุดครับสำหรับรัฐบาลในช่วง 3-4 ปีจากนี้ไป