เบื้องหลังหารือรถไฟไทย – จีน
ช่วงที่ผมทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ท่านนายกฯได้แต่งตั้งให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการความร่วมมือ ไทย – จีน ต่อมาเมื่อผมได้ลาออกเพื่อมาช่วยงานในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เข้าทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้แทน
ก่อนที่คุณสุเทพจะเดินทางไปจีน ผมได้เรียนคุณสุเทพให้ทราบประเด็นข่าวว่าจีนได้มีข้อตกลงกับลาวเป็นที่เรียบร้อยสำหรับโครงการรถไฟเชื่อมต่อระหว่างคุนหมิงกับลาว คุณสุเทพเห็นว่าเราน่าจะได้ลองหารือกับจีนถึงความเป็นไปได้ที่จะได้มีการต่อเส้นทางจากประเทศลาว ข้ามแม่น้ำโขงที่หนองคาย ผ่านมาอุดร ขอนแก่น โคราช ถึงกรุงเทพ และต่อยาวลงไปสุดใต้ชนเขตแดนไทย – มาเลเซีย
คุณสุเทพได้นำผลการหารือกับฝ่ายจีนรายงานในครม. สำหรับประเด็นรถไฟเส้นจากคุนหมิง รัฐบาลจีนสนใจที่จะร่วมทุนกับรัฐบาลไทยและพร้อมที่จะส่งตัวแทนเข้าหารือทันทีที่ฝ่ายไทยพร้อม ครม.รับทราบและได้มอบหมายให้ผมเป็นประธานคณะทำงานเพื่อหารือกับคณะของจีนทันที
รัฐบาลจีนส่งตัวแทนระดับอธิบดีที่ดูแลเรื่องรถไฟโดยเฉพาะเป็นหัวหน้าคณะในการหารือ ก่อนที่จะหารือกับคณะฝ่ายไทย คณะทำงานของจีนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ใช้เวลาสองวันเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพไปจังหวัดหนองคาย และได้ไปดูสถานที่ที่อาจเป็นจุดที่จะสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมไทย -ลาวด้วย แสดงให้เห็นถึงความจริงจังที่อยากจะให้โครงการนี้ไม่เป็นเพียงแค่ความฝัน
ใช้เวลา 3 วันในการหารือ ความเห็นที่ตรงกันและเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ เป็น วิน วิน อยู่ในกรอบนี้ครับ
ควรตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง ไทย – จีน ขึ้นเพื่อดำเนินการโครงการนี้ เป็นการร่วมมืออย่างถาวร ไทยต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ตอนนั้นผมเสนอไว้ที่ 60 /40 ( ต่อมามีการเจรจากลายเป็น 51 / 49 )
บริษัทนี้จะเป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งหมด ทุนจัดทะเบียนต้องเพียงพอที่จะสามารถขอเงินกู้ได้ การกู้เงินและใช้หนี้เป็นภาระของบริษัทร่วมทุน รัฐบาลไทยไม่ต้องแบกภาระเงินกู้ (คุยนอกรอบว่าถ้ารัฐบาลจีนให้เงินกู้บริษัทฯนี้ในอัตราดอกเบี้ย 2% โครงการนี้วิ่งฉิวแน่นอน )
บริษัทร่วมทุนนี้ต้องมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้สัญญาสัมปทาน เช่าเส้นทาง ( คู่ขนานกับเส้นเดิมของรถไฟไทย ) และการดำเนินกิจการรถไฟกับการถไฟแห่งประเทศไทย
ระบบของการเดินรถจะเป็นเทคนิคของจีนทั้งหมด เพราะเป้าหมายคืออนุญาติให้รถไฟจีนขนนักท่องเที่ยวจากคุนหมิงมาไทย ผ่านไปมาเลเซีย โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน ขบวนรถไฟจากจีนใช้ระบบรางของไทยได้ ส่วนรถไฟจากไทยก็สามารถวิ่งไปคุนหมิงได้เช่นเดียวกัน
ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงิน 180,000 ล้านบาทสำหรับเส้นทางหนองคาย – กทม ทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 9 หมื่นล้านบาทก็เพียงพอ รัฐบาลไทยควักกระเป๋า 51 % ของ 90,000 ล้าน ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท ใช้เงินงบประมาณปีละ 1-2 หมื่นล้านได้อย่างสบายๆ
ที่มองต่างกันคือ รัฐบาลจีนต้องการเริ่มเส้นทางเดียวก่อนคือ หนองคาย – กทม. ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 5 -6 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ และทำจุดเชื่อมใหญ่ที่สถานีบางซื่อ ( เชื่อมต่อระหว่างระบบ meter gauge ของไทยกับระบบ standard gauge ของบริษัทฯร่วมไทย-จีน ) หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการต่อสำหรับเส้นทาง กทม – ชายแดนใต้ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 6 – 7 ปี
ฝ่ายการเมืองไทยอยากให้ข้อตกลงไทย-จีนให้มีแผนครบทุกเส้นทางสำหรับไปทุกภาค ซึ่งฝ่ายจีนตอบตกลง ( บอกผมว่าเป็นไปได้ยาก จำนวนผู้โดยสารในประเทศรวมแม้นักท่องเที่ยวบางส่วนก็จะยังไม่เพียงพอ )
มีประเด็นเรื่องความเร็วของรถไฟด้วยว่าจะออกแบบให้เร็ว 150 กมต่อชม. สำหรับรถโดยสาร และ ประมาณ 80 – 100 กม.ต่อชม. สำหรับขนส่งสินค้า จึงไม่ใช่ระบบหัวจรวดความเร็วสูงของแท้อย่างที่เข้าใจ
ฝ่ายจีนบอกความเร็วสูงแบบหัวจรวดไม่คุ้มค่าเพราะค่าก่อสร้างระบบรางจะแพงกว่าระบบความเร็วปกติถึงเกือบเท่าตัว ท่านยังแซวผมว่า รถไฟระบบใหม่นี้อาจไม่เร็วมากแต่ก็จะเร็วกว่าระบบที่ไทยมีอยู่เกือบเท่าตัว
หลังจากนั้นรัฐบาลเสนอรัฐสภาขออนุมัติในหลักการเพื่อเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลจีน รัฐสภาให้ความเห็นชอบ กระทรวงคมนาคมรับเดินหน้าต่อ ไปไม่ได้ไกลก็มีการยุบสภา โครงการนี้พับไปโดยปริยาย
78