นโยบายหลักประกันสุขภาพ
22 สิงหาคม 2549
เช้าวันศุกร์ของวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549 มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 50 คน เรียกกลุ่มตนเองว่า “ชมรม 30 บาทรักษาทุกโรค” ได้มารวมตัวกันหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์อ่านแถลงการณ์แล้วสรุปได้ว่า ต้องการประท้วงและกล่าวหาคุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ว่าเยียบย่ำภาษา ไทย ดูถูกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะพรรคพรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความเกี่ยวกับโครงการไว้ที่ขั้นบันใด แล้วเดินข้ามไปข้ามมา
ต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง เห็นไหมครับว่าการเมืองช่างเป็นเรื่องแปลกเสียเหลือเกิน เวลาเราขับรถบนถนน มีข้อความเขียนไว้บนพื้นถนน ห้ามเลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย หยุดรอ แม้กระทั่งเวลาท่านผู้อ่านก้าวขึ้นลงรถ BTS ก็จะมีตัวหนังสือเขียนบนทางขึ้นลง อยู่ทั่วไป ไม่มีใครด่าว่าใคร ว่าดูถูก เหยียบย่ำ ภาษาไทย พอพรรคประชาธิปัตย์ขยับตัวไม่ว่าจะทำอะไร จะมีการสร้างกระแส กล่าวหาพรรคเสียๆ หายๆ แต่เมื่อเป็นพรรคการเมืองก็ต้องทำใจครับ พอได้ยินว่ามีคนไม่เห็นด้วย เจ้าหน้าที่พรรคก็รีบนำตัวหนังสือนั้นออกทันที
ที่นำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังก่อน เพราะต้องการให้เห็นว่าโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคนั้น มีคนชอบและถูกใจกันพอสมควร จึงมีการกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะยกเลิกโครงการนี้ แม้กระทั้งทีมเศรษฐกิจของไทยรัฐยังใช้ตัวใหญ่เขียนในบทความว่า “ที่จะเป็นปัญหาก็คือ ถ้ายกเลิก 30 บาท จะต้องกลับไปสู่ระบบเดิมที่คนไม่มีเงินจ่ายจริงๆ เท่านั้นจะได้รับการรักษาฟรีหรือไม่”
อ่านกี่รอบ ๆ ก็ไม่เข้าใจว่า ทีมเศรษฐกิจต้องการสื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าอย่างไร กำลังบอกว่า นโยบาย ปชป.จะยกเลิก โครงการ 30 บาท? หรือ กลับไปเหมือนเดิม! เหมือนเดิมคือคนจนรักษาฟรี คนมีจ่ายหรืออย่างไร
ผมขออนุญาตชี้แจงรายละเอียด นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของพรรคว่าแท้ที่จริง เป็นอย่างไร
ถ้าจะแบ่งสังคมของเราออกเป็นกลุ่ม โดยวัดจากรายได้ของครอบครัว อาจแบ่งง่ายๆ ได้เป็น 3 กลุ่มคือ
ก. สังคมที่ครับครัวมีรายได้น้อยคือยากจน (เกษตรกร,ลูกจ้าง)
ข. สังคมที่ครอบครัวมีรายได้ปานกลาง (ลูกจ้าง , ข้าราชการ)
ค. สังคมที่ครอบครัวมีรายได้สูง (ลูกจ้าง, นายจ้าง,ข้าราชการ,เจ้าของกิจการ)
ก+ข+ค คือจำนวนประชากรของเรา รวมแล้วกว่า 60 ล้านคน นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ย่อมหมายความว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องมีหลักประกันสุขภาพทั่วถึง ทุกคนทุกครอบครัว ซึ่งเมื่อแบ่งเป็น 3 กลุ่มแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มสุดท้ายพอจะมีฐานะและกลุ่มรองลงมา คือ ลูกจ้าง มีกองทุนประกันสังคมดูแลอยู่ ส่วนข้าราชการนั้น รัฐก็มีสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลอยู่แล้ว จึง ถือได้ว่าเป็นกลุ่มสังคมที่มีหลักประกันค่อนข้างจะดีพอสมควร ที่เป็นปัญหา หนีไม่พ้น กลุ่มแรก คือผู้มีรายได้น้อยหรือยากจน กลุ่มนี้มีอยู่ด้วยกันเกือบ 40 ล้านคนครับ
เราจะดูแลเขาเหล่านี้อย่างไร?
รัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่มีทางเลือก ต้องเข้ามาดูแล และต้องใช้เงินงบประมาณ จำนวนมากทุกๆปี อย่าไปพูดเรื่อง 30 บาท กันเลยครับ เก็บหรือไม่เก็บ ค่าเท่ากัน เป็นเรื่องของการตลาดที่กำหนดตัวเลขให้ดูตื่นเต้นเท่านั้นเอง
ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเงินไม่พอ และจะไม่มีวันพอ วันนี้เรากำลังพูดกันว่า 2,000 บาทต่อหัว แล้วพรุ่งนี้ ล่ะครับ ปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ
การแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่เพียงแต่ว่า เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว และมีแผนจะเพิ่มเงินให้ในปี 2550 เป็น 2,089 บาทต่อหัว ตามที่ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐอ้างถึง แล้วทุกอย่างจะจบ ไม่ใช่ครับ ปี 2550 อาจจะพอ ปี 2551 ปี 2552 หรือ อีก 3 – 5 ปี หน้า จะหาเงินจากงบประมาณจากไหนมาเพิ่มครับ
ถ้าคิดให้ครบทั้งระบบจริงและต้องการแก้ไขปัญหาให้ดีแล้ว พรรคเสนอแนวทางอย่างนี้ครับ
1. ไม่ควรจะเก็บ 30 บาทอีกต่อไป ยุ่งยากเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการบริหาร ไม่คุ้มค่า
2. บัตรทอง ไม่ต้องใช้ มีบัตรประชาชนก็เพียงพอแล้ว ขอให้เป็นคนไทยก็แล้วกัน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของบัตรทอง
3. ส่วนกลางคือรัฐบาลต้องจัดสรรเงินงบประมาณไม่เฉพาะแค่ค่ารายหัวเท่านั้น แต่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการป้องกันสุขภาพมากกว่า ที่จะรอให้ป่วยแล้วค่อยรักษา
ทำอย่างนี้ครับ
3.1 ลดจำนวนผู้ใช้บริการให้น้อยลง ให้กองทุนประกันสังคมให้สิทธิสมาชิกและครอบครัว ได้สิทธิใช้กองทุนประกันสังคม (อย่าลืมว่าเงินกองทุนนั้น รัฐบาลมีส่วนสมทบให้จำนวนหนึ่งด้วย) เมื่อลดจำนวนผู้ที่ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว (ประมาณ 6 ล้านคน) ตัวเลขค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อหัวจะไม่เพิ่มขึ้น หรือเมื่อเพิ่มขึ้น รัฐก็ยังสามารถรับภาระได้ไปอีกระยะหนึ่ง โดยไม่ต้องเพิ่มเกินไปกว่า 2,000 บาท ต่อหัว เท่าใดนัก
3.2 แต่ละหมู่บ้านจะมี อสม. ประจำทุกครอบครัว โดย อสม.เข้าตรวจเยี่ยมทุกหลังคาเรือน เพื่อตรวจสุขภาพและทำประวัติสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว
3.3 แต่ละหมู่บ้านจะมีแพทย์เข้าเยี่ยมทุกหมู่บ้าน เดือนละ 1 ครั้ง
3.4 จัดงบประมาณสนับสนุนปีละ 10,000 ล้านบาท (เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับหมอ พยาบาล อนามัย อสม. เพราะมีภาระความรับผิดชอบมากขึ้นตามนโยบายนี้)
3.5 จัดงบประมาณให้ท้องถิ่นสนับสนุนเพื่อเพิ่มปริมาณบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาลที่กำลังขาดแคลนอย่างเต็มความสามารถ
นโยบายแบบนี้เรียกว่าประชานิยมหรือไม่ ผมว่าจะเรียกว่าอะไรไม่สำคัญ ความจริงที่ต้องยอมรับคือ เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย ถ้ารัฐไม่ดูแล ควบคุมและบริหารให้ดี จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่เคยลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่าไปกังวลว่าใครของแท้ ใครของเทียมเลย ขอให้เชื่อใจได้ว่านโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เพียงแต่จะมีไว้ใช้หาเสียง หาคะแนน เท่านั้น เราได้เห็นปัญหาและได้เคยนำเสนอเจ้าของนโยบาย 30 บาท มาเกือบทุกโอกาสที่จะทำได้ วันนี้คุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนที่ด้อยโอกาส ได้รับการคุ้มครองจากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ พูดสั้น ๆ ว่า “ได้ยาดี มีคุณภาพ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” สนองตอบแนวความคิดที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”
อ่านบทความ : นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ในสายตา ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ
Download : สมุดบันทึกสุขภาพ ประจำครอบครัว
Tags: นโยบาย, ประชาชน, สุขภาพ, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า