บาทสุดท้าย

บาทสุดท้าย

ปัญหาอยู่ที่เงินดอลล่าห์ครับ    ไม่ใช่เงินบาท   ค่าเงินดอลล่าห์ต่ำสุดในรอบ๑๓ปีที่ผ่านมา   เมื่อดอลล่าห์อ่อนเงินสกุลประเทศอื่นๆ  รวมทั้งเงินบาทไทยจึงปรับตัวแข็งขึ้น     ประเทศใดเงินแข็งมากน้อยกว่ากันอย่างไร  อยู่ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ  รวมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหา

ถ้าจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด     ควรเริ่มหาสาเหตุจากต้นตอของปัญหาคือเงินดอลล่าห์ก่อน   ต้องถามว่าค่าของเงินดอลล่าห์ จะอ่อนลงลึกไปกว่านี้หรือไม่      นานแค่ไหน

ท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงคิดในใจว่า     สหรัฐฯเก่งจะตายไป ( เที่ยวนี้อาจตายจริง )    เศรษฐกิจสหรัฐฯเดียวก็คงฟื้น   สำหรับท่านที่มองต่างมุมอาจบอกความในใจว่า  เงินดอลล่าห์คงจะมีค่าประมาณ   toilet  paper  กระดาษชำระในอนาคต

ดูจากอดีตกันซักนิดครับ    ๒๕ ปีที่แล้ว  ที่โรงแรมหรูในนิวยอร์ค ชื่อ The Plaza  รัฐมนตรีคลังของประเทศยักษ์ใหญ่ได้สุมหัวประชุมลับกัน   มีทั้งหมด ๕ ผู้ยิ่งใหญ่   ญี่ปุ่น     อังกฤษ     สหรัฐ      ฝรั่งเศษ     และเยอรมันตะวันตก

ผลการประชุมเป็นอย่างนี้ครับ     ตกลงให้มีความร่วมมือเพื่อกำหนดมาตรการที่จะทำให้ค่าเงินดอลล่าห์สหรัฐอ่อนลง    เรียกข้อตกลงสวยหรูนี้ว่า   The Plaza Accord     ได้ผลครับ   เวลาผ่านไปสองปี   ค่าเงินดอลล่าห์สหรัฐฯร่วงไปร้อยละ ๕๔   สาเหตุที่ต้องพร้อมใจกันแก้วิกฎติค่าเงินดอลล่าห์เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหา       งบประมาณประเทศขาดดุลมหาศาล  ค่าเงินดอลล่าห์ในขณะนั้นแข็งเกินความเป็นจริง  รายได้จากการส่งออกตกต่ำ   คุ้นๆนะครับ  ปัญหาของสหรัฐฯ

ไม่คุ้นได้อย่างไร          ถึงแม้ปัญหาอาจเกืดจากสาเหตุที่ต่างจากเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว      แต่ผลไม่ต่างกันเลยครับ       งบประมาณแผ่นดินของสหรัฐฯกลับมาขาดดุลอีกครั้ง   เที่ยวนี้หนักกว่าเดิม   ต้องกู้เงินจำนวนมาก ( พิมพ์เองมากกว่า)  มาใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤติการเงินของประเทศ       เที่ยวนี้ไม่ต้องมีการสุมหัวกันแก้ปัญหา      เพราะเกือบทุกประเทศซีกโลกตะวันตกได้ผลกระทบในทิศทางเดียวกัน

ถ้าดูอย่างนี้แล้วโอกาสที่ดอลล่าห์จะนิ่ง และปรับตัวแข็งขึ้นคงจะใช้เวลาหลายปี   คาดเดายาก   แต่ไม่น่าจะพลาดถ้าบอกว่า  เงินบาทเข็มแข็งจะอยู่กับเราต่อไปอีกนาน

ไม่ควรถามว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาทำให้ค่าเงินบาทอ่อนได้อย่างไร      รัฐบาลเองก็ไม่ควรตอบว่าจะแก้ปัญหาแบบไหน เพราะแก้ให้ค่าเงินบาทอ่่อนทำไม่ได้ครับ        คำตอบที่รัฐบาลต้องบอกประชาชนคือ   ทุกส่วนของสังคม รวมทั้งของรัฐฯ  ต้องปรับตัว    ใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง  เปลี่ยนเพื่อให้สามารถยืนอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันได้อย่างชาญฉลาด   รัฐบาลจะต้องช่วยทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้เพื่อให้สังคมสามารถปรับตัวเองได้ทัน

ตกลงกันก่อนนะครับว่าเราจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่   เปลี่ยนแปลงการหารายได้เข้าประเทศ  ให้คนไทย ประเทศไทย  ไม่ต้องหารายได้จากการพึ่งตลาดต่างประเทศเกินพอดี  พึ่งตังเองให้มากสุดเป็นดีสุด   วันนี้โลกแคบเต็มที   ความไม่สมดุลมีมาก   ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลของโลกใบน้อยนี้ไม่จบลงง่ายๆ    วันนี้แก้ได้  พรุ่งนี้ก็กลับมาอีก

การเปลี่ยนแปลง  การปรับตัว   ต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไป   แต่ไม่ว่าจะมีมาตรการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด   ต้องใช้เวลาครับ   เวลาจึงเป็นเรื่องสุดสำคัญ

วันนี้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นเร็วไปครับ     ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน     ถ้ารายได้ของภาคธุรกิจหดหาย  ผลตามมาคือตัวเลขคนว่างงาน   กระทบรายได้ของลูกจ้าง  กระทบกำลังซื้อ  กระทบเศรษฐกิจในวงกว้างครับ   วันนี้ภาคธุรกิจต้องการเวลาครับ

โจทก์แรกคือรัฐ ( ธนาคารแห่งประเทศไทย) ต้องดำเนินมาตรการเพื่อชลอค่าเงินไม่ไห้แข็งเร็วเกินไป   ทำได้หลายวิธี  การแทรกแซงค่าเงินต้องทำอย่างต่อเนื่อง      พิมพ์เงินบาทมาซื้อเงินดอลล่าห์    แล้วดูดเงินบาทคืนโดยการออกพันธบัตร   มาตรการนี้เสียค่าใช้จ่ายมาก   ทำให้ธปท.ขาดทุน  แต่ธปท.ไม่มีทางเลิอก  ต้องทำ

มาตรการผ่อนคลายให้เงินไหลออกง่ายขึ้นควรเร่งเครื่อง     อย่าหน่อมแน้ม   ถ้าไทยเราปล่อยให้เงินทุนไหลเข้าประเทศได้อย่างอิสระ  ก็ต้องกล้าปล่อยให้เงินทุนไหลออกแบบสบายๆเหมือนกัน   แต่ถ้าธปท.มีความคิดที่จะไม่ให้เงินทุนไหลเข้าประเทศฟรีๆ    อาจดูตัวอย่างจากบราซิลที่เก็บภาษีเงินทุนเข้าประเทศเพิ่มจากอัตรา ๒% เป็น ๔%    พิสูจน์แล้วว่าได้ผลเพียงแค่จิตวิทยา      ค่าเงิน real บราซิล ยังแข็งอย่างต่อเนื่อง   ธปท.อาจต้องเก็บความคิดนี้ขึ้นหิ้งไว้ก่อน

ช่วงนี้ทุกคนเฝ้าดูว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับขึ้นหรือไม่   กูรูทั้งหลายถกเถียงกันอย่างเผ็ดมัน     ข้อยุติคงอยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการการเงิน        ผมไม่เห็นตัวเลข   ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น      แต่ถ้าธปท.จำเป็นต้องขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีก   ก็ทำไปเถอะ    เงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง         ผมเพิ่งจะรับจ๊อบการแก้ปัญหาค่าครองชีพจากท่านนายกฯมาหมาดๆ   ต้องพึ่งธปท.เรื่องเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก

ธปท.น่าจะต้องมีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน     ในอดีตธปท.สามารถให้ soft loan เพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจบางประเภทเช่นภาคการเกษตร   ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว   วันนี้อาจต้องกลับมาคิดใหม่     กฎหมายถ้าต้องแก้ก็ควรทำ

หลักคิดของผู้กำหนดนโยบายต้องอยู่ในโหมดของการทำให้ค่าเงินบาท  ไม่ให้ผันผวน  ไม่แข็งค่าเร็วเกิน    ซื้อเวลาให้ภาคธุรกิจได้ปรับตัวทัน

ภาคธุรกิจน่าจะเดินหน้าอย่างนี้ครับ         เร่งปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในขบวนการการผลิตให้มีความทันสมัยเป็นเยี่ยม   ใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งสั่งซื้อเครื่องจักรกลจากต่างประเทศ  ขบวนการการผลิตที่ทันสมัยจะช่วยลดต้นทุนการผลิต   เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน     ไม่ต้องใช้ค่าเงินเป็นตัวช่วยในการทำธุรกิจมากเกินควร    ทำให้สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับค่าเงินบาทแข็งได้

กรมจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังต้องออกจากถ้ำเสียที     มาตราการลดภาษีสินค้านำเข้าที่เป็นเครื่องจักรกล  ไม่ต้องเก็บแล้ว   กำหนดช่วงเวลาให้นำเข้าได้ภายในสองปี      ประกาศทันที    ไม่ใช่พรุ่งนี้   ไม่ใช่มะรืนนี้   ไม่ใช่ขอเวลาศึกษาก่อน                 เม็ดเงินลงทุนของธุรกิจในทางบัญชีต้องอนุญาติให้ใช้หักเป็นรายจ่ายเฉลี่ยเร็วขึ้นกว่าปัจจุบัน   จูงใจกันอย่างเข็มข้น

ภาคธุรกิจขาดเงินทุนเพื่อปรับปรุงขบวนการผลิต    สถาบันการเงินของรัฐฯต้องช่วยอย่างแข็งขัน   soft loan  ของธปท.ช่วยได้มาก ( ต้องรีบแก้กฎหมาย)

ราคาน้ำมัน     ต้นทุนของทุกอย่าง     ต้องให้สะท้อนข้อเท็จจริง    บาทแข็งน้ำมันต้องถูกลง    ถ้าราคาน้ำมันต่างประเทศไม่เคลื่อนไหวสวนทาง

แสดงความเห็นเหมือนกับไม่ได้เป็นรัฐบาล              ความจริงเป็นการบ่นส่วนตัวมากกว่า      เพราะภาระหน้าที่ของเลขาฯนายกรัฐมนตรีอยู่ในกรอบของผู้ปฎิบัติเท่านั้น    ไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย

วันนี้เผลอบ่นดังไปหน่อย  พูดคุยออกนอกกรอบมากเกินพอดีไปนิดหนึ่งครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา