กบนอกกะลา(ทำเนียบ)

Mon, Dec 20, 2010

English | เศรษฐกิจ

กบนอกกะลา(ทำเนียบ)

ใกล้เลือกตั้ง   รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะโดนกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย (Lame duck government) คล้ายกับว่าไม่มีพลัง ขาดความน่าเชื่อถือ และถ้ารัฐบาลนำเสนอนโยบายใหม่ๆ ในช่วงนั้นก็จะถูกวิจารณ์ว่ากำลังหาเสียงหาคะแนนนิยม

รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์กำลังก้าวเข้าสู่การบริหารราชการแผ่นดินในปีเลือกตั้ง  บรรยากาศจึงไม่ได้ต่างจากการบริหารประเทศของรัฐบาลประเทศอื่นๆในระบอบประชาธิปไตย   คือเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยและเป็นรัฐบาลที่ต้องเร่งทำผลงาน  เร่งหาคะแนนนิยม

ประเทศไหนปีเลือกตั้งเศรษฐกิจดี คนว่างงานน้อย  รัฐบาลในขณะนั้นมักจะได้รับเลือกกลับเข้ามาใหม่   แต่ถ้าประเทศมีปัญหามากในปีเลือกตั้ง  เศรษฐกิจตกต่ำ  อัตราคนว่างงานไม่ลดลง  มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะแพ้เลือกตั้ง   กลายเป็นฝ่ายค้าน

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือสหรัฐอเมริกา จำนวนสส.ของพรรคเดโมแครตลดลงไปมากในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน  จึงมีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง   เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นว่าเล่น

คำถามยอดฮิตของบ้านเราจากนี้ไปคือ “คุณว่าพรรคไหนจะชนะเลือกตั้ง”  และถ้าท่านผู้อ่านชอบพนันขันต่อ  ก็อย่าได้ไปพนันต่อรองกับใครโดยใช้หลักคิดที่ผมอ้างถึงเบื้องต้นเป็นอันขาด   เพราะมีโอกาสผิดหวัง  การเมืองบ้านเรายังไม่ไปถึงขั้นมาตรฐานสากล  รัฐบาลชนะหรือแพ้การเลือกตั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลงานแต่เพียงอย่างเดียว (แต่ถ้าไม่มีผลงานก็ดับตั้งแต่ยกแรก)  ยังมีตัวแปรอื่นๆเป็นส่วนประกอบอีกมาก

วันนี้ตั้งใจจะคุยเรื่องงานของรัฐบาลที่กำลังอยู่ในความสนใจ   เป็นงานที่รัฐบาลตั้งใจจะเริ่มในปีเลือกตั้ง   จึงโดนข้อหาเต็มๆว่าทำเพื่อหาเสียง หาคะแนนนิยม  ผมเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ปฎิเสธไปทั้งหมด  แต่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องอธิบายและให้ข้อมูลให้ชัดและถูกต้อง

ประเด็นสำคัญคือ ต้องชี้ให้เห็นชัดว่ารัฐบาลไม่ได้ทำโครงการในรูปแบบที่นำเงินภาษีของประชาชนไปแจกจ่ายเพื่อได้มาซึ่งคะแนนนิยม  ตรงนี้สำคัญและเป็นความกังวลของผม  เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมต้องมาพูดคุยกับเจ้าของเงินผู้เสียภาษี

งานที่เป็นนโยบายเร่งด่วนมีหลายส่วน      ท่านนายกฯมอบหมายให้ผมรับผิดชอบส่วนค่าของชีพของครัวเรือนครับ (Cost Of Living)   เน้นไปที่ค่าใช้จ่ายประจำเช่น อาหาร (พานิชย์ เกษตร) ค่าเดินทาง ไฟฟ้า ประปา  (พลังงาน)     เวลาของการทำงานที่วางกรอบไว้คือ  ทีมงานมีเวลา ๖ สัปดาห์ เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา   ต้องทำให้เสร็จก่อนสิ้นปี  และแผนงานที่นำเสนอต้องปฎิบัติได้จริงเป็นรูปธรรมภายใน ๖ เดือน

โจทย์นี้ยากและท้าทาย  ที่ยากคือการเสาะแสวงหาหัวหน้าทีมและทีมงานเพราะต้องมาทำงานแบบสุมหัวกัน  ท่านนายกฯใช้คำว่าเชิญมาเข้าค่าย  เวลาผมชักชวนหัวหน้าทีมและทีมงานให้มาร่วมงาน ผมบอกไปว่าขอเวลาของท่าน 7-twelve (๗ วัน ๑๒ ชม.)  ๖ สัปดาห์   และที่ท้าทายคือเมื่อมีแผนปฎิบัติการที่ชัดเจน  รัฐฯต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจับต้องได้ภายใน ๖ เดือน

หัวหน้าทีมที่ชักชวนมาครับ    เรื่องของราคาสินค้าได้ท่านผู้ตรวจฯ ชุติมา จากกระทรวงพานิชย์   ส่วนของพลังงานได้ท่านรองปลัดฯ เมตตา จากกระทรวงพลังงาน

ผมขออธิบายถึงหลักคิดและสมมุติฐานที่นำมาใช้ในการทำแผนปฏิบัติการ    แบ่งเป็นสองส่วนครับ

ส่วนที่ ๑ ราคาสินค้า

คำถามเริ่มต้นที่    ๑. ทำอย่างไรให้สินค้าราคาถูกและ   ๒. ผู้ผลิตต้องไม่ขาดทุน

ทีมงานตกผลึกกันท้ายสุดว่า การแข่งขันอย่างโปร่งใสเท่านั้นที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด   และต้องให้มีการแข่งขันทุกลำดับชั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือ  เกษตรกรผู้ผลิต พ่อค้าคนกลาง ไปจนถึงปลายทางคือพ่อค้าแม่ขาย  ที่นำสินค้าวางขายทั้งที่ในตลาดสดและในห้าง

เวลาเพียง ๖ สัปดาห์  น้อยเกินไปที่จะไปดูตัวสินค้าได้ครบ  จึงได้เลือกเฉพาะ ๓ ตัวหลัก   หมู  ไก่เนื้อ และ ไข่ไก่เพราะเชื่อว่าทุกครัวเรือนขาด ๓ ตัวนี้ไม่ได้  (ความจริงยังมีตัวสินค้าที่สำคัญอื่นอีกเช่น ข้าวสาร  ผักสด  น้ำมันพืชเป็นต้น)

ส่วนที่ ๒ พลังงาน

ขอบเขตงานไม่กว้างนัก   เพราะแผนงานส่วนที่จะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน ๖ เดือนมีไม่มาก   งานสำคัญคือการปรับโครงสร้างของราคาพลังงาน ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อ  แผนงานที่จะนำเสนอเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อให้สามารถต่อยอดให้แล้วเสร็จได้ในระยะ ๒-๓ ปี

หลักคิดการแก้ปัญหาของราคาพลังงานไม่ได้ต่างไปจากสินค้าตัวอื่นๆ  ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุดต่อเมื่อมีการแข่งขันอย่างแท้จริง   และเป็นแข่งขันในทุกระดับชั้นของขบวนการผลิตจากต้นทางถึงปลายทาง

ราคาพลังงานมีเรื่องปวดหัวมากกว่าราคาสินค้าครับ   ราคาพลังงานมีผลกระทบในวงกว้าง ทำให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้   รัฐบาลที่ล้มลุกคลุกคลานจากเรื่องของราคาน้ำมันมีให้เห็นกันมากในอดีตที่ผ่านมา

การแก้ปัญหา

เมื่อทีมงานได้ตกผลึกแล้วว่าเราจะใช้หลักคิดที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นในการแก้ปัญหา   ขั้นต่อไปคือการเข้าไปดูสภาพปัจจุบันว่ากลไกเป็นไปตามหลักคิดนี้หรือไม่   และถ้าไม่ใช่  จะปรับปรุงแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้อย่างไร

การเข้าไปสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์   ทีมงานใช้เวลา ๒ สัปดาห์   ทำโดยการเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาพูดคุย รวมไปถึงการออกภาคสนามไปสัมผัสของจริง

ทีมงานใช้เวลาใกล้เคียงกันในการจัดทำข้อเสนอครับ   มีการทดสอบภาคสนามด้วยว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคหรือไม่  เช่นความคิดการขายไข่ไก่ตามน้ำหนัก   ไม่ใช่ขนาดของฟอง  ทีมงานขอความร่วมมือให้มีวางขายไข่ไก่แบบชั่งน้ำหนักที่ตลาดสดสองแห่งเพื่อทดสอบการตอบสนองของผู้บริโภคเป็นต้น (ผู้บริโภคตอบรับดีกว่าที่ทีมงานประเมิน)

จากนี้ไปทีมงานจะได้ปรับปรุงแผนปฎิบัติการให้สมบูรณ์เพื่อมีการนำเข้าเสนอพิจารณาในครม.   กำหนดไว้อย่างช้าภายในสัปดาห์แรกของปี พ.ศ. ๒๕๕๔   รายละเอียดจะมีให้ได้เห็นกันในเวลานั้น

ที่ korbsak.com นี้จะมีรายละเอียดให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ครับ    ผมคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องปูทางไว้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง  ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ อย่างไร

สัปดาห์หน้าจะเริ่มที่เรื่องของโครงสร้างราคาของพลังงานก่อนครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา