10 ปีที่แล้ว เขาพลาญเงินสำรองกันอย่างไร
9 กรกฎาคม 2550
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บทสนทนาสุดฮิตในหมู่นักธุรกิจ นักการเงิน นักการธนาคาร หนีไม่พ้นเหตุการณ์ต้มยำกุ้งอาละวาด เศรษฐกิจไทยล่มสลาย บรรจบครบรอบสิบปีพอดี กล่าวขวัญกันมากโดยเฉพาะสื่อไทยภาคฝรั่งรวมทั้งสื่อไทยแท้ มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย มีครบทั้งที่เป็นบทความและบทสัมภาษณ์จากผู้ที่ผ่านเหตุการณ์และโชคดีที่ยัง เอาตัวรอดได้ ไม่ถึงกับหมดเนื้อหมดตัว ที่หนีไปอยู่เมืองนอกเมืองนาก็ยังอุตส่าห์ส่งบทความมาให้อ่านกัน ยกเว้นพวกที่แอบทำกำไรจากการลดค่าเงิน ใช้ข้อมูลที่รู้ล่วงหน้าก่อนคนอื่น กอบโกยผลประโยชน์มหาศาล พวกนี้ปิดปากเงียบ หายจ๋อย ข่าวว่าต้องระเหเร่ร่อน ยังหาแผ่นดินอยู่ไม่ได้
วันนี้ขอไม่แสดงความเห็นครับ มีแต่เอกสารที่เคยเป็นสุดยอดของความลับ อยากให้ท่านผู้อ่านได้เห็นข้อมูลกันชัดๆว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่มีการเก็ง กำไรค่าเงิน ได้เข้าใจการบริหารงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้พยายามปกป้องค่าของเงิน บาทโดยการนำเงินเหรียญดอลล่าร์สหรัฐที่เป็นเงินสำรองของประเทศไปขายจนเกือบ หมดหน้าตัก เขาทำกันอย่างไร ต้องยอมรับกันก่อนนะครับว่าการที่เราสูญเสียเงินสำรองไปจนเกือบหมด เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยล่มสลายและทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยากขึ้น เป็นทวีคูณ
ได้อ่านเนื้อหาของเอกสารแล้ว ท่านผู้อ่านจะนึกภาพออกว่า เกิดอะไรขึ้น เป็นไปได้อย่างไร รู้กันให้ครบ รู้กันให้ถูก โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง ทั้งข้าราชการและนักการเมือง ประวัติศาสตร์จะได้ไม่ซ้ำรอยอีก
ออกตัวก่อนว่าไม่มีเจตนาที่จะโทษใครทั้งสิ้น นำมาให้อ่านเพื่อเตือนความจำ ต้องเตือนกันเพราะคนไทยลืมง่ายครับ
ผมจะเริ่มต้นที่หนังสือจาก ไอ เอ็ม เอฟ ที่มีถึงรัฐบาลไทยครับ
สามฉบับสำคัญ
ฉบับแรกลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 และ ฉบับที่สอง ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ทั้งสองฉบับจ่าหน้าถึงคุณอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น
ฉบับที่สามลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 มีถึงพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เช่นกัน
นี่เป็นฉบับแรกครับ ไม่ได้นำเนื้อหามาลงทั้งหมด โดยย่อจับใจความได้ว่า ไอเอ็มเอฟ มีความกังวล เชื่อว่าสถานการณ์( การเก็งกำไรค่าเงิน )มีความรุนแรง และต้องการการตัดสินใจเพื่อการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว เพราะมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศได้อย่าง มาก
ส่วนนี้เป็นฉบับที่สอง ไม่ได้ต่างกันกับฉบับแรก เน้นว่าถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขปัญหาให้ครบถ้วนทุกด้านตามที่ได้เคยมีการหารือ กันไว้ก่อนหน้านี้ แปลความได้ว่าไอ เอ็ม เอฟ ขอเตือนอีกเป็นครั้งที่สองก็คงไม่ผิดไปนัก
สุดท้าย มีถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรงครับ
ฉบับนี้นอกจากจะย้ำถึงความกังวลแล้ว ยังได้กล่าวถึงการเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจากการโจมตีเงินบาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายกับเงินทุนสำรองของประเทศ รวมทั้งยังแนะนำให้เราลดค่าเงินประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ และเปลี่ยนนโยบายค่าเงินบาทคงที่เป็นให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
นั่นคือความกังวลของไอ เอ็ม เอฟ ครับ
ขณะที่ ไอเอ็มเอฟ เฝ้ามองอยู่ข้างนอก ถามว่าข้างใน( ธนาคารแห่งประเทศไทย ) ทำอะไรกันบ้าง
ถ้าจะเข้าใจได้ดี คงหนีไม่พ้นที่จะต้องอ่านบันทึกภายในของธนาคารแห่งประเทศไทยครับ
เป็นการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่การขออนุมัติ ( ทำก่อน รายงานที่หลัง ) ลองอ่านดูครับ
ฉบับลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 จากผู้อำนายการฝ่ายการธนาคาร ถึง ผู้ช่วยผู้ว่าการ มีทั้งหมด 9 หน้า ผมนำเนื้อหาเฉพาะส่วนที่สำคัญมาให้อ่านกัน ท่านผู้อ่านจะได้ไม่เสียเวลานึกถึงความหลังเกินความจำเป็น
บันทึกนี้ถึงแม้ว่าจะลงวันที่ 12 พฤษภาคม แต่ก็ได้กล่าวถึงการโจมตีค่าเงินบาท ตั้งแต่เริ่มตั้งเค้า จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม เท่านั้น
วันที่ 8 -9 พฤษภาคม เป็นช่วงเวลาที่นักเก็งกำไรลุยหนักเป็นครั้งแรก เรียกว่าเป็นการประลองกำลังกันอย่างหนักหน่วง ธนาคารแห่งประเทศไทยขายเงินสำรองวันเดียวกว่า 6 พันล้านดอลล่าร์ ประมาณแสนห้าหมื่นล้านบาทครับ!!!!
นั่นเป็นระลอกแรก หลังจากนั้นเหตุการณ์ที่เลวร้ายทรุดหนักมากขึ้นไปอีก
ช่วงที่หนักหน่วงที่สุด เรียกได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องหลับต้องนอนกันทีเดียว คือ ช่วงระหว่าง
วันที่ 9 – 16 พฤษภาคม 2540
อ่านบันทึกของฝ่ายการธนาคารที่มีถึงผู้ช่วยผู้ว่าการ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 กันครับ
ส่วนนี้มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า การขายเงินสกุลดอลล่าร์ เพื่อพยุงค่าของเงินบาทนั้น เขาทำผ่านธนาคารกันอย่างไร ดูรายชื่อธนาคารแล้วไม่ใช่ใครอื่น พวกเรากันเองทั้งนั้นครับ วันทำการวันเดียวซื้อดอลล่าร์ขายเงินบาทถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาท
แบบที่ผมเรียนไว้เบื้องต้นว่าบันทึกนี้เป็นการรายงานสิ่งที่ได้เกิดขึ้น แล้ว ไม่ใช่เป็นการขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด การเข้าแทรกแซงตลาดต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว รอขออนุมัติก็คงจะไม่ได้
มีการแสดงความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องท้ายของบันทึกฉบับนี้ ลองอ่านดูครับ
ท้ายที่สุดหนีไม่พ้น หนังสือจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 มีการรายงานว่าใช้เงินไปแล้วเท่าไหร่ในแต่ละช่วงของการแทรกแซง
ที่น่าสนใจมากคือ การยืนยันว่าการแทรกแซงเพื่อดูแลเสถียรภาพยังมีความจำเป็น ขนาดหมดเนื้อหมดตัวไปแล้วนะครับ
ทั้งหมดที่นำมาเสนออาจจะเข้าใจยากหน่อย เพราะเนื้อหาที่แสดงไว้ ไม่ครบทั้งหมด ดึงออกมาให้อ่านกันบางส่วน บางตอน ถ้าท่านผู้อ่านสนใจและต้องการอ่านทั้งหมด ก็ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ ข้อมูลบันทึก ธนาคารแห่งประเทศไทย
- หนังสือจาก ไอ เอ็ม เอฟ 3 ฉบับ
- บันทึกภายใน วันที่ 12 พฤษภาคม 2540
- บันทึกภายใน วันที่ 22 พฤษภาคม 2540
- หนังสือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 28 พฤษภาคม 2540
นำมาให้อ่านกัน เพราะเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่พวกเราน่าจะต้องได้รับรู้ไว้
เหตุการณ์ในวันนี้เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้ขายเงินเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขายเงินบาทเพื่อซื้อเงินเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ทำให้เรามีเงินเหรียญดอลล่าร์สหรัฐมาก สูงเป็นประวัติการณ์เกินความจำเป็นถึงกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท
วิธีการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นในขณะนี้เป็นความกังวลที่พอรับ ได้ แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ครับ เพราะการเข้าแทรกแซง มีค่าใช้จ่าย ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขาดทุน ปีที่แล้วขาดทุนไปกว่าแสนล้านบาท ปีนี้และปีต่อไปละครับ จะขาดทุนอีกเท่าไหร่ กลัวว่ากระทรวงการคลังจะขาดรายได้ สงสารเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอีกต่างหาก ที่อาจจะไม่ได้รับโบนัสสิ้นปี
พูดแล้วก็ต้องพูดซ้ำอีกครั้งว่า อย่าฝืนธรรมชาติเลยครับ ถ้าเงินบาทจะแข็ง ก็อย่าไปขวาง หาสาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็ง แล้วหามาตรการแก้ไข ไม่ดีกว่าหรือครับ
ความอิสระในการบริหารงานของธนาคารชาตินั้นเห็นชัดเจนว่ามีมานานแล้ว มีมากจนน่ากลัว ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความเป็นอิสระเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คงไม่สามารถนำเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จำนวนมหาศาลไปใช้ในการปกป้องค่าเงินบาทได้จนหมดเนื้อหมดตัว
ถ้าธนาคารไม่เป็นอิสระจริง ผู้ว่าการคนนั้นก็คงไม่ต้องรับผิดชอบมากมายแบบไม่น่าเชื่อ ความเป็นอิสระ ฟังดูแล้วดีแล้วโก้ครับ ถามจริงๆเถอะ ท่านพร้อมจริงหรือ
ดีใจที่ได้ข่าวว่า ท่านรองนายกโฆษิตกำลังหามาตรการเพื่อส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าที่เป็น ทุน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักร หรือวัตถุดิบ เพื่อให้ดุลการค้าของเรากลับสู่ภาวะปกติเสียที ไทยเรามีดุลการค้าเป็นบวกมาตลอด ผิดธรรมชาติครับ เร่งรัดให้มีการนำเข้ามากขึ้นจะได้เป็นแรงกดดันค่าเงินบาทอีกทางหนึ่งด้วย
Tags: IMF, ค่าเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย ค่าเงินบาท, เงินสำรอง, เอกสารลับ