กองทุนมั่งคั่ง (1)-At the beginning

กองทุนมั่งคั่ง (1)-At the beginning

ที่จะคุยให้ฟังสัปดาห์นี้เนื้อเรื่องจะหนักไปนิด  อาจต้องอ่านหลายครั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจ  แต่น่าจะเป็นประโยชน์ในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าของเงิน เป็นเจ้าของประเทศ

ประเทศไทยของท่านทำมาค้าขายกับนานาประเทศทั่วโลก    การค้าการขายทำให้เกิดทั้งรายได้และรายจ่าย รายได้อาจเกิดจากการส่งออกสินค้า จากการท่องเที่ยว  รายจ่ายหลักน่าจะเป็นน้ำมัน หรือวัตถุดิบป้อนโรงงาน หรือสินค้าทั่วไป กระเป๋าถือใบแพงๆ รถเก๋งคันงามๆ

การชำระค่าสินค้าหรือบริการต้องพึ่งเงินสกุลหลักของโลก วันนี้ยังเป็นดอลล่าห์สหรัฐอยู่   ธนาคารชาติของเราเป็นตัวกลางที่ดูแลธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ   ต่างชาตินำเงินสกุลบ้านเขามาแลกเป็นเงินบาทเพื่อซื้อสินค้าไทย  คนไทยจะไปเที่ยวเมืองนอกก็นำเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลประเทศเป้าหมายเพื่อไปจับจ่ายใช้สอย   ธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราผ่านสถาบันการเงินทั่วไป   แต่ท้ายสุดมาลงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยครับ

ถ้าประเทศนี้ค้าขายแล้วผลปรากฎว่ามีเงินเข้ามากกว่าเงินออก  ถือว่าเป็นกำไร  ประเทศมั่งคั่ง  เงินที่เรียกว่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่เป็นเงินตราต่างประเทศก็จะมีมาก  และในทางกลับกันถ้าประเทศค้าขายขาดทุน เงินส่วนนี้ก็จะมีน้อยลง  หรือเกลี้ยงกระเป๋า หมายความว่าประเทศเดือดร้อน  เศรษฐกิจไปไม่รอด  ล่มสลาย    ผู้บริหารประเทศต้องวิ่งเข้าหา ไอเอ็มเอฟ ขอกู้เงินไว้มาสำรองเพื่อให้ประเทศคู่ค้ามั่นใจได้ว่าเราจะมีเงินชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการ

พอได้ยินคำว่าไอเอ็มเอฟ  ท่านผู้อ่านคงจะขนหัวลุก   จำเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งกันได้ว่าคนไทยลำบากกันแค่ไหน รัฐบาลในขณะนั้นบริหารประเทศผิดพลาด    ใช้เงินสำรองที่เรามีสะสมไว้จากการค้าขายกำไรมาหลายสิบปีจนหมดหน้าตัก   ประเทศไทยต้องวิ่งเข้าหา ไอเอ็มเอฟ เป็นครั้งแรก เป็นบทเรียนที่แสนแพงจากการมีรัฐบาลที่ไม่เอาอ่าว ไร้ฝีมือ ขาดความรับผิดชอบในสมัยนั้น

หลังจากบทเรียนที่ขมขื่น ประเทศเริ่มกลับมายืนได้อีกครั้ง   หลายปีที่ผ่านมาประเทศนี้ค้าขายมีกำไร  ทำให้เงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง  สูงเป็นประวัติการณ์ครับ   วันที่คุณอภิสิทธิ์ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ( กรกฎาคม 2554 )   เงินสำรองระหว่างประเทศมีสูงถึง 187,638.66 ล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐ เทียบกับวันที่รับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ตัวเลขเงินสำรองอยู่ที่ 111,008.02 ล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐ  เพิ่มขึ้นเกือบ 80 % ภายในเวลาสั้นๆเพียงสองปีเศษ

(อยากเห็นภาพว่าฐานะประเทศดีขึ้นมากแค่ไหน   อาจเปรียบกับตัวเลขก่อนวิกฤติก็ได้    ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2539 มีเงินสำรองประมาณ 38,000 ล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐเท่านั้น)

ความจริงเงินสำรองของประเทศที่สูงมากในครั้งนี้ไม่ได้มาจากการค้าขายที่มีกำไรเพียงอย่างเดียว  แต่มีตัวเลขที่เกิดจากการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารชาติแฝงอยู่ด้วย      เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติบางท่านเท่านั้นที่รู้ตัวเลขจริงว่าเราใช้เงินในการแทรกแซง (เพื่อรักษาระดับค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนหรือแข็งเกินไป) ไปแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่กันแน่

อ่านมาถึงตอนนี้ชักจะงงแล้วใช่ไหมครับ   ถ้าจะให้เข้าใจลึกซี้งต้องอธิบายต่อว่า การแทรกแซงเงินเพื่อบริหารค่าเงินบาทเขาทำกันอย่างไร ทำไมไปเกี่ยวกับเงินกำไรของเราด้วย    ผมว่าต้องขอไว้ก่อน จะไม่คุยต่อว่าเขาแทรกแซงกันแบบไหน อย่างไร  จะมีคำว่า forward  spot swap มาวุ่นวายในคำอธิบาย   เชื่อว่าท่านผู้อ่านไม่ต้องการทราบข้อมูลลึกไปถึงว่าเขาทำกันอย่างไร  อาชีพใครอาชีพมัน ปล่อยให้คนของธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ไปดีกว่า  เอาเป็นแต่เพียงว่า เงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศไม่ใช่เงินที่ได้จากการค้าขายมีกำไรทั้งหมดก็แล้วกัน

เข้าประเด็นเสียทีครับ

มนุษย์เรานี่แปลกดีครับ  ไม่มีเงินก็มีทุกข์ แต่พอเวลามีเงินมากก็หาความทุกข์ใส่ตัวอีกเหมือนเดิม   รัฐบาลหลายรัฐบาลแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองเริ่มปิ๊งไอเดียว่าเราไม่ควรมีเงินเก็บไว้เฉยๆ  น่าจะเอาไปลงทุนให้งอกเงย ให้เกิดประโยชน์  มีการตำหนิธนาคารชาติเหมือนกันเช่น ตำหนิว่าเก็บเงินไว้เป็นสกุลดอลล่าห์ไม่ดีนะ   ค่าเงินมะกันตกลงทุกวันน่าจะเก็บเป็นเงินสกุลอื่นบ้าง ความเห็นว่าจะทำอย่างไรกับเงินก้อนนี้มีหลากหลายครับ

รัฐบาลน้องสาวพตท.ทักษิณไม่ได้ประกาศนโยบายการบริหารเงินสำรองในระหว่างการหาเสียง  เพราะเป็นเรื่องไกลตัวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พูดไปก็ไม่ทำให้ได้คะแนนเพิ่ม แต่เชื่อได้ว่าคนคิดนโยบายมองเงินก้อนนี้ตาเป็นมันอยู่ในใจมานานแล้ว  จึงเร่งกระทรวงการคลังให้ผลักดันการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งขึ้นมาทันทีเมื่อรัฐมนตรีคลังเข้ารับหน้าที่

แนวว่าจะนำเงินบางส่วนไปลงทุนด้านพลังงาน  ด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในเอเซีย อะไรทำนองนี้  คุณกรณ์อดีตรัฐมนตรีคลังกังวลว่าการเมืองจะเข้าไปวุ่นวายหาผลประโยชน์  จึงออกมาแสดงความเห็นว่าถ้าจะตั้งกองทุนก็ควรให้ปล่อยเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเหมาะสมกว่า นักการเมืองต้องอยู่ห่างๆ

มองรอบๆตัวเราก็จะเห็นว่าประเทศอื่นๆเขาก็มีการลงทุนลักษณะนี้เช่นกัน   ขนาดของกองทุนกับที่มาของกองทุนแตกต่างกันไป    ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประเทศที่มีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก เป็นรายได้จากการส่งออกน้ำมันเช่นประเทศนอร์เวย์ ยูเออี และซาอุดิอาระเบีย แต่ก็มีประเทศที่มีเงินสำรองมากที่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าทั่วไปเหมือนกัน เช่นประเทศจีน

ผมนำตัวเลขประเทศที่ตั้งกองทุนใหญ่สุดของบางประเทศมาให้ดูด้านล่างครับ   (เงินกองทุนของจีนขนาดใหญ่กว่าเงินสำรองของไทย 7 เท่า)

ลำดับประเทศกองทุนสูงสุด               ขนาดกองทุน              ที่มาของกองทุน

1 China                                  $827.0 พันล้าน        Non-commodity

2 United Arab Emirates          $709.3 พันล้าน                 Oil

3 Norway                               $556.8 พันล้าน                 Oil

4 Saudi Arabia                       $444.4 พันล้าน                 Oil

35 Indonesia                               $0.3 พันล้าน         Non- commodity

เงินสำรองของเรามีประมาณ $187.0 พันล้าน  ถ้านำไปลงทั้งหมด ก็คงได้อยู่อันดับต้นๆ  ถ้านำ 10% ไปลงทุนคือ $18.7  จะอยู่ในระดับใกล้เคียงอันดับที่ 23 แคนาดาที่ $14.4 พันล้าน

( ข้อมูลจาก http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_sovereign_wealth_funds )

คำถามต่อไปคือเราควรจะเดินหน้าต่ออย่างไร  เรื่องนี้ต้องคุยกันอีกยาวครับ  ขอเล่าให้ฟังต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน

แต่มีการบ้านที่ขอฝากให้ช่วยขบคิดคือ  เงินนี้เป็นของท่านผู้อ่านทุกท่าน   ท่านจะบอกรัฐบาลว่าอย่างไรครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา