นักการเมือง VS ค่าของเงิน

นักการเมือง VS ค่าของเงิน

3 กุมภาพันธ์ 2551

ผมอยู่กับการเมืองมานาน ได้ยินได้ฟังได้เห็นนักการเมืองบางคนพูดถึงเงินหรือใช้เงินแล้ว ไม่ว่าจะพบเห็นบ่อยครั้งเพียงใดก็ยังอดใจหายไม่ได้ เขามองเงินเป็นเศษกระดาษจริงๆ อาจเป็นเพราะเงินที่ผ่านมาในระบบของ การเมือง หามาง่าย จึงใช้กันอย่างง่ายๆ

ถึงฤดูเลือกตั้ง เราได้ยินคำพูดที่ฟังแล้วไม่อยากจะเชื่อ ที่ได้ยินเกือบทุกครั้งคือค่าตัวส.ส.เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง คนละ 10 -20 ล้านบาทอย่างนี้เป็นต้น คนทั่วไปฟังแล้วคงจะงง เพราะตนเองทั้งชั่วชีวิตกว่าจะเก็บหอมรอมริบมีเงินเป็นล้านได้ ต้องทำงานกันจนแก่จนเฒ่าเชียวละ นี่พูดถึงเฉพาะคนที่ทำมาหากินเก่งนะ สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป มีเงินล้านเป็นเพียงแค่ฝันกลางแดดเท่านั้นเอง

การเมืองระยะหลังยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก ล่าสุดข่าวว่านักการเมือง You -Know -Who (ขอใช้สำนวนในหนังสือของ แฮรี่ พอตเตอร์หน่อย ) จ่ายค่าตัวส.ส.คนละ 30 ล้านบาทให้กับพรรคการเมืองเพื่อเข้าร่วมรัฐบาล ตัวเลขออกมาเหยียบ 1,000 ล้านบาท ได้ยินได้ฟังข่าวอย่างนี้แล้ว ได้แต่ภาวนาขอให้เป็นเพียงข่าวปล่อยก็แล้วกัน

ค่าของเงินที่จะคุยด้วยในวันนี้ต่างกับที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นครับ เป็นเรื่องของค่าของเงินที่พวกเราคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำรู้จัก ผมกำลังพูดถึงผลตอบแทนที่เราได้รับจากเงินสดที่เราถือไว้หรือดอกเบี้ย นั่นเอง ถ้าท่านถือเงินสดไว้ในมือ ท่านชอบที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยสูงเพราะเงินของท่านงอกเงยขึ้น แต่ถ้าท่านยืมเงินในอนาคตมาใช้จ่าย ท่านอยากให้ดอกเบี้ยต่ำ จะได้ไม่เป็นหนี้มากเกินกำลังที่จะใช้คืน อัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือลง มีผู้ได้และผู้เสียผลประโยชน์ครับ

ช่วงนี้เริ่มได้ยินเสียงเรียกร้องจากนักธุรกิจว่า ไทยควรจะต้องรีบตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย ความจริงเสียงเรียกร้องมีมานานแล้ว ที่เริ่มดังมากขึ้นเกิดจากปัญหาของสหรัฐครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงสองครั้ง ติดต่อกัน รวมไปถึงตัวเลขขาดดุลงบประมาณและขาดดุลการค้าที่สูงลิ่ว ทำให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงไปอีก สหรัฐจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เพื่อลดต้นทุนในการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินควบคู่ ไปกับการช่วยลดต้นทุนให้ธุรกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ย เสริมกับนโยบายการคลังของรัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐที่ได้มีการคืนภาษีเพื่อเพิ่ม กำลังซื้อให้กับประชาชน

เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐที่อยู่ในช่วง recession ไม่ให้ดิ่งลงเหวกลายเป็น depression ทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า สหรัฐน่าจะนำพาเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะ recession ได้ภายใน 1 ปีครับ

ของไทยเราควรจะเดินไปในทิศทางไหนดี

วันนี้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐลดต่ำลง ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนลงไปอีก และทำให้ค่าเงินบาทแข็งมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หนีไม่พ้นที่เราจะได้ยินนักธุรกิจส่งออกเริ่มส่งเสียงดังมากขึ้น ในขณะเดียวกันธุรกิจนำเข้ากลับได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง ทำให้สินค้านำเข้าราคาถูกลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ซื้อขายกันเป็นเงินเหรียญสหรัฐ ถ้าราคาน้ำมันคงที่หรือขยับขึ้นน้อยกว่าที่ควร จะช่วยกดดันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นไปอีก

ทุกอย่างพันกันไปหมด เหมือนกับที่ผมกล่าวไว้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ขึ้นหรือลงมีผู้ได้ประโยชน์และมีผู้เสียประโยชน์ ค่าเงินบาทไม่ก็ต่างกันครับ

บทบาทของนักการเมืองโผล่มาตรงนี้ นักการเมืองที่อาสาตัวเองมาเป็นรัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจว่าจะนำพาประเทศไปทาง ไหน รมว.กระทรวงการคลังอาจจะโยนให้เป็นความรับผิดชอบของธนาคารชาติ เพราะถือว่าเรื่องของอัตราดอกเบี้ย เรื่องของค่าเงินบาทเป็นนโยบายการเงิน เป็นงานของธนาคารชาติโดยตรง รัฐบาลไม่ควรแทรกแซง

เพียงแต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด รัฐบาลจะปล่อยให้ธนาคารชาติรับผิดชอบไปทั้งหมดไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะการที่จะตัดสินใจว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือควรคงไว้ตามเดิม จะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ กระทบค่าเงินบาท กระทบค่าเงินเฟ้อ กระทบกับค่าครองชีพของคนไทยทั้งประเทศ นั่นรวมถึงคนไทย12 ล้านคนที่เลือกพรรคของท่านและอีก 12 ล้านคนที่ไม่ได้เลือกพรรคของท่าน

หนังเรื่องนี้เพิ่งจะเริ่มฉายครับ ทำท่าว่าจะสนุกเอาการอยู่.

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา