เสน่ห์ของเงินบาท
3 สิงหาคม 2552
ผมเริ่มเป็นสมาชิกบล๊อกเกอร์ของเนชั่นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 พร้อมเขียนบทความเรื่องค่าเงินบาท http://www.oknation.net/blog/korbsak/2007/07/28/entry-1
ผ่านมาแล้ว 2 ปีพอดีครับ
ค่าเงินบาทในวันนั้นกับวันนี้ต่างกันด้วยวันและเวลา แต่ปัญหาและสาเหตุเหมือนเดิมครับ
ผมวิเคราะห์ค่าเงินบาทในวันนั้นขณะที่นั่งดูเหตุการณ์อยู่ข้างเวที วันนี้ผมกลายเป็นหนึ่งในตัวลครที่กำลังแสดงอยู่บนเวที
ค่าของเงินบาทไม่ว่าจะแข็งโป๊กหรืออ่อนปวกเปียก จะเป็นหัวข้อที่มีผู้พูดถึงหรือวิพากย์วิจารณ์กันได้เกือบทุกเวทีทีเดียว
คำถามคลาสสิกคือเงินบาทควรจะมีค่าอยู่ที่เท่าไหร่ คนที่ทำตัวเป็นกูรูมักจะกล้าตอบ ( สื่อจะถูกอกถูกใจมาก ) เพราะแสดงถึงความกล้าหาญชาญฉลาด และ(เชื่อว่า) รู้จริง
ผมเองไม่มีความกล้าเลยในเรื่องนี้ จนด้วยเกล้า เพราะไม่รู้จริงๆว่าค่าเงินบาทควรจะเป็นเท่าไหร่
นึกแต่เพียงว่าถ้าค่าเงินบาทมีปัญหาเมื่อไหร่ ( อ่อนหรือแข็ง เกินไป ) สิ่งที่ควรทำคือต้องหาที่มาของปัญหา
ถามผม ตอบได้เลยว่า ค่าเงินแข็งขึ้นเพราะมีเงินไหลเข้าประเทศมากกว่าเงินไหลออกนอกปรเทศ ( แปลว่ามีคนต้องการเงินบาทมากกว่าเงินดอลล่าห์ )
ถ้าบ้านเมืองเป็นปกติ เงินบาทแข็งคือยอดปราถนาของคนในประเทศ เพราะแสดงให้เห็นว่าประเทศค้าขายมีกำไร มีเงินดอลล่าห์นำมาขายแลกเป็นเงินบาทมาก คนไทยมีความมั่งคั่ง ไทยเข็มแข็ง
แต่วันนี้บ้านเมืองไม่ปกติ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น เงินบาทแข็งคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง
จึงมีคำถามว่าทำไมมีเงินไหลเข้าประเทศมากกว่าเงินไหลออก ถ้าดูให้ลึกจะพบว่าเงินไม่ได้ไหลเข้าผิดปกติแบบเป็นนัยยะสำคัญ ธุรกิจที่นำเงินเข้าประเทศมากคือธุรกิจการท่องเที่ยวและการส่งออกยังไม่ดี ขึ้น รายได้ประเทศยังไม่เป็นไปตามเป้า เงินไม่ได้ไหลเข้ามากเกินพอดีครับ เงินไหลเข้าน้อยกว่าอดีตเสียด้วยซ้ำ
ที่เป็นปัญหาคือส่วนของเงินไหลออกมากกว่า เข้าใจง่ายๆคือความต้องการของธุรกิจเพื่อขายเงินบาทแลกเป็นเงืนดอลล่าห์ เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศยังไม่เป็นปกติ น้อยกว่าปกติ
เงินไหลออกน้อยและต่อเนื่องมาแล้วหลายเดือน เป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็ง เป็นปัญหาที่รัฐต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว
ต้องให้มีการนำเงินออกนอกประเทศให้มากที่สุดในระยะนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจผมผิดว่าผมสนับสนุนให้เศรษฐีขนเงินออกนอกประเทศนะครับ
ความหมายของการเร่งให้เงินไหลออกคือให้ภาคธุรกิจสั่งซื้อสินค้าจากต่าง ประเทศเพื่อนำมาใช้ในการผลิตรวมทั้งการลงทุนใหม่ๆ ให้มากขึ้น ทำได้โดยการสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับลดอัตราภาษีการนำสินค้าเข้าที่เป็น วัตถุดิบและเครื่องจักรในระยะสั้น เป็นแรงจูงใจให้นักธุรกิจครับ
เท่านั้นไม่พอ รัฐเองยังต้องเร่งการลงทุนในโครงการไทยเข็มแข็งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ที่สุด ให้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างกำลังซื้อ เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
รัฐวิสาหกิจที่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในโครงการลงทุน ใหม่ๆ ก็ต้องถือเป็นนโยบายให้กู้เป็นเงินบาทแทนแล้วนำเงินบาทแลกเป็นดอลล่าห์ ไปซื้อสินค้าทุนหรือเครื่องจักรที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
กระทรวงการคลังต้องชลอการกู้เงินจากต่างประเทศ ที่ทำสัญญาเงินกู้ไว้แล้ว อาจไม่ถอนมาใช้ รอสักระยะหนึ่ง
จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการเพื่อเพิ่มตัวเลขการนำเข้า ทั้งหมดที่กล่าวถึงเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดแรงขายเงินบาทออกมาให้มาก จะช่วยลดความร้อนแรงของเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งตัวในช่วงนี้ได้ในระดับหนึ่ง
แม้กระทั่งการยอมให้มีเงินไหลออกโดยเสรีก็ควรจะพิจารณาอย่างจริงจัง เสียที ถ้าอัตราดอกเบี้ยควรลดอีกเพื่อไม่ให้ผลตอบแทนของเงินบาทสูงเกินไปเมื่อเทียบ กับสกุลอื่น ก็ต้องคิดให้ครบ งานส่วนนี้เป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลจะปล่อยให้คิด ให้ทำ ได้อย่างเสรี พร้อมกับความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับความเป็นอิสสระ
เงินบาทอ่อนหรือแข็ง มีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์
เงินบาทอ่อน เกษตรกรหน้าบาน นักท่องเที่ยวชอบ ผู้ส่งออกยิ้ม คนใช้น้ำมันหงุดหงิด ผู้นำเข้าบ่นเล็กน้อย
ค่าเงินบาทมีเสน่ห์อย่างนี้ละครับ.
Tags: ค่าเงิน