ไอทีวี ปล้นชาติ สไตล์ ระบบทักษิณ

ไอทีวี ปล้นชาติ สไตล์ ระบบทักษิณ

19 ธันวาคม 2549

ถ้าจะวัดกันว่าครอบครัวคุณทักษิณ ร่ำรวย แค่ไหน ต้องดูจากมูลค่าหุ้นของบริษัท ที่จดทะ

เบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะ หุ้นของ ชิน เอ ไอ เอส ชินแซท และ ไอทีวี หุ้นปรับราคาขึ้นเท่าไหร่ ครอบครัวนี้ก็รวยมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่แปลกที่นโยบายของรัฐบาลคุณทักษิณ มีผลให้ ราคาหุ้นที่ครอบครัวคุณทักษิณครอบครองอยู่ ปรับตัวสูงขึ้นเป็นรายวัน จนถึงวันสุดท้ายที่ราคาปรับตัวสูงสุด ก่อนเทขายหุ้นให้กับรัฐบาลต่างชาติ แปลงหุ้นเป็นเงิน รับไป 7 หมื่นล้านบาทเศษ

ลองอ่านบทความที่ผมได้เคยเขียนไว้กันดูครับ

เรื่องของไอทีวีหนีไม่พ้น  การขอแก้ไขสัญญาที่มีไว้กับรัฐ  ฟังดูแล้วก็ไม่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ ครับ  รัฐบาลคุณทักษิณยอมให้มีการแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนในลักษณะที่รัฐบาลเสียผลประโยชน์  กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว

ไอทีวีต้องการลดค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีครับ  ได้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ  เพื่อพิจารณาคำร้องเรียนของไอทีวี  ใช้เวลาไปปีกว่าผลคำตัดสินจากอนุญาโตตุลาการทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์  ไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐเหลือเพียงปีละ 230 ล้านบาทตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัญญา  ค่าตอบแทนที่รัฐพึงได้รับจึงลดลงเหลือแค่ 7,790 ล้านบาท  จากเดิมที่ควรจะได้ 25,200 ล้านบาท  เท่ากับว่ารัฐสูญเสียรายได้ถึง 17,410 ล้านบาท  เมื่อมีผู้เสียประโยชน์  ย่อมมีผู้ได้รับประโยชน์พร้อมกันไป

นอกจากนี้ไอทีวียังสามารถเสนอรายการบันเทิงในช่วงเวลา 19.00 – 21.30 น.   แม้มีข้อกำหนดว่ายังต้องเสนอรายการข่าว  สารคดี  และสารประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด  จากเดิมที่กำหนดสัดส่วนไว้ที่ร้อยละ 70  ทำให้ไอทีวีสามารถมีรายได้จากอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะรายการบันเทิงในช่วงไพร์มไทม์เป็นเงินมหาศาล  เรียกได้ว่า  ไอทีวีได้เปลี่ยนจากทีวีเสรี  มาเป็นทีวีเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทชิน  และเพื่อการรณรงค์ทางการเมืองให้กับพรรคไทยรักไทยอย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว

ท่านผู้อ่านคงคาดเดาได้ไม่ยากว่า  ราคาหุ้นของไอทีวีน่าจะฉุดไว้ไม่อยู่แน่  และผู้ถือหุ้นไอทีวีก็ไม่ใช่ใครอื่น ก็บริษัท SHIN นั่นเอง

แต่มาวันนี้ข้อมูลก็ปรากฏชัดแล้วครับว่าการแก้ไขสัญญา  ทำให้เพิ่มมูลค่าหุ้นชินจริง  เพราะทันทีที่ศาลปกครองตัดสินใจให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ  หุ้นของไอทีวีร่วงหล่นลงติดฟลอร์  เหลือเพียง 1.96 บาท  จากที่บางช่วงหุ้นไอทีวีเคยพุ่งสูงถึง 30 บาท  ผลประกอบการของไอทีวีพลิกจากตัวดำเป็นแดงทันตาเห็น

แล้วแบบนี้จะไม่ให้เรียกว่าทุจริตเชิงนโยบายได้อย่างไรครับ

ท่านผู้อ่านคงจะพอเข้าใจแล้วนะครับว่า  การทำให้บริษัทลูกของ SHIN ไม่ว่าจะเป็น AIS หรือ Shin Sattellite หรือไอทีวี  ให้สามารถประกอบกิจการได้  โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน  ส่งผลต่อให้ราคาหุ้นของบริษัท SHIN ปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย  ราคาสูงขึ้นเท่าไหร่  คุณทักษิณและครอบครัวก็รวยเพิ่มขึ้นเท่านั้น

ที่กล่าวมาแล้ว  เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการทำกำไรให้กับธุรกิจของครอบครัวชินวัตร  ซึ่งอำนวยการโดยรัฐบาลภายใต้การนำของหัวหน้าครอบครัวที่ชื่อ  ทักษิณ

นำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพราะยังมีการโกงแบบที่ไม่ต่างกัน เป็นการโกงเพื่อเพิ่มราคาหุ้นแบบหน้าด้านด้าน ที่คนอย่าง พลเอก มนตรี ศุภาพร ประธานกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน ต้องค้นหาข้อเท็จจริง แก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมทั้งนำผู้ทำความผิดมาลงโทษโดยเร็ว

ผมกำลังพูดถึงการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ระหว่าง องค์การโทรศัพท์ ปัจจุบันคือ บริษัท ที โอ ที จำกัดมหาชน และ บริษัท เอ ไอ เอส เจ้าเก่าของเราละครับ ไม่ใช่เรื่องใหม่ พูดมาแล้วหลายครั้ง จะย้ำอยู่อย่างนี้ จนกว่าผู้มีอำนาจจะจัดการกับกลุ่มบุคคลที่กระทำความผิด ทำให้บ้านเมืองเสียหายเสียที

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับไอ ที วี มีประเด็นที่สำคัญ คือ ศาลมีความเห็นว่า อนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจ ในการอนุญาตให้มีการแก้ไขเนื้อหา ส่วนที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาสัมปทาน ขยายความได้ว่า คู่สัญญาจะมีความเห็นต่างกันในเรื่องใดก็ตาม ถ้าเป็นสาระสำคัญ อนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจที่จะตัดสินในเรื่องดังกล่าวได้

การแก้สัญญาสัมปทานมือถือ ระหว่าง เอไอเอส กับ ทีโอที ไม่ต่างกับของไอทีวี เป็นการแก้ไขสัญญาเพื่อให้ เอไอ เอส จ่ายผลประโยชน์ให้กับ ทีโอที น้อยลงกว่าเดิม รัฐสูญเสียรายได้ หลายหมื่นล้านบาท กรณีนี้ไม่ได้มีการใช้อนุญาโตตุลาการเป็นเครื่องมือ แต่ได้คณะกรรมการของ ทีโอที ที่รัฐบาลคุณทักษิณ แต่งตั้

งสดๆร้อนๆ ในขณะนั้น เป็นผู้สนองนโยบาย เป็นผู้ให้ความเห็นชอบกับข้อเรียกร้องของ เอไอเอส

จึงมีคำถามว่า คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ มีอำนาจหรือไม่ ที่จะแก้ไขสัญญาสัมปทานมือถือ เพราะการแก้ไข ทำให้ฝ่ายรัฐ เสียผลประโยชน์ ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขส่วนที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาหรือไม่ ทำไมไม่มีการเสนอเรื่องถึงกระทรวง และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบ

ที่มาที่ไปเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ครับ ( จาก บทความ หนังสือ ใครว่าคนรวยไม่โกง – ผมผิดด้วยหรือ)

คุณทักษิณเป็นรัฐบาลเพียง 5 เดือน  ก็เปิดฉากเพิ่มกำไรให้บริษัทของครอบครัว  โดยการแก้ไขสัญญาสัมปทานมือถือของบริษัท  เอไอเอส  ท่านผู้อ่านทราบอยู่แล้วว่าบริษัทที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท SHIN  ของคุณทักษิณ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส บริษัท เอไอเอสได้สัญญาสัมปทานกับรัฐบาลเป็นระยะเวลา 25 ปี มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อเป็น 30 ปี  ด้วยในภายหลัง

สัญญาสัมปทานที่เอกชนทำร่วมกับรัฐมีหลายรูปแบบ  เป็นเรื่องที่เข้าใจยากเพราะมีรายละเอียดมาก  ผมอยากจะให้ดูกันเฉพาะส่วนการแบ่งรายได้ที่ฝ่ายเอกชนผู้ได้สัญญาสัมปทานต้องจ่ายให้กับรัฐกันดีกว่าครับ  เพราะเป็นหัวใจสำคัญ

ตามสัญญาสัมปทาน  บริษัทเอไอเอสในฐานะคู่สัญญา  เมื่อมีรายได้จากการทำธุรกิจต้องแบ่งรายได้ให้รัฐในอัตราร้อยละ 25 ของรายได้ทั้งหมด  ส่วนนี่แหละครับที่มีการแก้ไข  ไม่ใช่แก้แล้วรัฐบาลของเราได้ส่วนแบ่งมากขึ้นนะครับ  อย่าได้เข้าใจผิดเป็นอันขาด  เป็นการแก้สัญญาที่ทำให้รัฐได้รับส่วนแบ่งน้อยลง  ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ

การแก้ไขสัญญาครั้งนั้นกระทบต่อรายได้ของรัฐ  เป็นการแก้ไขที่ทำให้รายได้รัฐน้อยลงที่แปลกก็คือ  การแก้สัญญาครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์เท่านั้น  ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี

เขาแก้ไขสัญญากันเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544  ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  เป็นนายกรัฐมนตรี     และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลองค์การโทรศัพท์ชื่อ       วันมูหะมัดนอร์  มะทา

ที่มาที่ไปอย่างนี้ครับ  คนไทยหันมานิยมใช้โทรศัพท์ระบบพรีเพด  คือ  ระบบที่มีการจ่ายก่อน  โทรทีหลัง หรือวัน ทู คอล มากขึ้น  จำนวนลูกค้าที่ใช้ระบบนี้มีมากถึง 8,000,000 กว่ารายตอนที่มีการแก้ไขสัญญา  ปัจจุบันน่าจะมีลูกค้ามากกว่า  20,000,000 รายแล้ว  ลูกค้าส่วนมากจะเป็นผู้มีรายได้น้อย  คนในระดับรากหญ้าของเราละครับ  ไม่มีเครดิตที่จะโทรก่อนจ่ายทีหลังตามระบบรายเดือนตามปกติ  ซึ่งบริษัทไม่ค่อยจะอนุมัติกลัวเบี้ยว  โทรแล้วไม่จ่ายเงิน  ในระบบ วัน ทู คอล  ผู้บริโภคต้องยอมเสียเปรียบ  จ่ายเงินค่าโทรไปก่อน  ส่วนที่ว่าจ่ายเงินแล้วจะใช้โทรศัพท์หรือไม่ใช้ภายหลัง  ไม่ว่ากัน  บริษัทรับล่วงหน้าไปแล้ว

ตรวจสอบสัญญาสัมปทานฉบับเดิมก่อนการแก้ไข  พบว่า  บริษัท เอไอเอสต้องนำรายได้ส่วนที่เรียกว่า  วัน  ทู  คอล  มาแบ่งจ่ายให้รัฐร้อยละ 25 ประมาณว่าต้องแบ่งให้รัฐกว่า 10,000 ล้านบาทต่อไป

เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี  วันดีคืนดี  บริษัท เอไอเอสก็ขอแก้ไขลดค่าสัมปทานจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 20  คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ก็ใจดีครับ  อนุมัติให้แบบเงียบ ๆ ไม่มีใครทราบ  จนกระทั่งผมนำเรื่องนี้เปิดเผยในสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที

ผมลองคำนวณดูรายได้ที่รัฐต้องสูญเสียไป  โดยตั้งสมมติฐานว่า  บริษัทเอไอเอสมีรายได้เฉพาะในส่วนนี้ประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท  แก้สัญญาจากที่แบ่งให้รัฐ  ร้อยละ 25 ลดลงเหลือ ร้อยละ 20 ปีหนึ่งรัฐมีรายได้ลดลงจากเดิมร้อยละ 5  คำนวณได้เป็นเงินกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี  สัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2558  รวมเวลา 13 ปี  เท่ากับว่ารัฐต้องสูญเสียรายได้อย่างน้อยประมาณ 30,000 ล้านบาท

ความจริงการแก้ไขสัญญานี้  ผมไม่เรียกว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย”  ผมว่าเป็นการโกงกันซึ่งหน้าเลยครับ  การแก้ไขในครั้งนี้ทำให้ผลประกอบการของบริษัทเอไอเอสดีขึ้น  มีกำไรมากขึ้น  หุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น

พลเอก มนตรี ศุภาพร ในฐานะ ประธาน บริษัท ทีโอที จำกัด คนปัจจุบัน ต้องสร้างผลงานโดยเร็ว เร่งให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ถูกผิดอย่างไร ว่าไปตามเนื้อผ้า เป็นที่พึ่งของประชาชนสักครั้ง อย่ารอให้ประชาชนเจ้าของประเทศ ต้องดำเนินการด้วยตัวเอง นำเรื่องนี้ร้องเรียนต่อศาลปกครองอีกเลยครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags:

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา