ความมั่นคงของรัฐ
วันที่ 5 มีนาคม 2549
เริ่มมีคำถามมากขึ้นว่า กิจการโทรศัพท์มือถือ กิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เป็นกิจการที่มีความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐมากน้อยแค่ไหน?
ตามมาด้วยคำถามที่ว่า ถ้าเจ้าของกิจการเหล่านี้เปลี่ยนมือจากคนไทยเป็นรัฐบาลต่างชาติ จะเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศหรือไม่?
จึง มีคำถามสุดท้ายว่า การเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกรณีดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยราชการหรือไม่
ผมตอบแทนได้ว่า ถ้ารัฐบาลทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง รัฐบาลต้องยืนยันว่าต้องขออนุญาต
ต้องเข้าสู่ขบวนการขออนุญาตในฐานะคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ
ส่วนจะอนุญาตหรือไม่ หรืออนุญาตแต่มีข้อแม้ประการใด ย่อมทำได้
อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ สำคัญที่สุดเลยครับ
มองดูประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่าง
บริษัทที่ผมจะกล่าวถึง ชื่อ Global Crossing เป็น บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐที่มีบริษัทในเครือจำนวนมาก เปรียบเทียบเหมือนบริษัทชิน ที่มีบริษัทในเครือเช่น เอไอเอส หรือ ชินแซท เป็นต้น
บริษัทในเครือของ Global Crossing ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการวางเคเบิ้ลใต้น้ำทั่วโลกและให้บริการกิจการ ด้านโทรคมนาคม เช่น บริการอินเตอร์เน็ต บริการรับส่งสัญญาณที่เป็นทั้ง ข้อมูล เสียง และภาพเป็นต้น
ใบอนุญาตดำเนินกิจการดังกล่าวออกโดย FCC คือ Federal Communication Commission ของสหรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรกำกับธุรกิจกิจการโทรคมนาคม ไม่ต่างกับ กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ของไทย
ที่น่าสนใจคือ บริษัท Global Crossing เกิดปัญหาล้มละลายครับ
ต้องเปลี่ยนเจ้าของ ได้เจ้าของใหม่ ไม่ใช่ใครอื่น Temasek ของรัฐบาลสิงค์โปร์นั่นเอง Temasek ใช้บริษัทในเครือ คือ S.T. Telemedia ซื้อหุ้นของ Global Crossing จำนวนร้อยละ 61.5
ไม่ต่างนักกับการที่บริษัทชินเปลี่ยนเจ้าของจากครอบครัวชินวัตรและ ครอบครัวดามาพงษ์ โดยการขายหุ้นให้ Temasek ผ่านบริษัทนอมินีทั้งหลาย ตามที่เราทราบกันอยู่แหละครับ
แต่ที่ต่างกันมีอยู่อย่างหนึ่งครับ
FCC ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัทในเครือ Global Crossing เข้ามามีบทบาทครับ FCC ไม่ปล่อยให้บริษัท Global Crossing ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ต้องนำสู่ขบวนการขออนุมัติ FCC พิจารณา 3 ประเด็นหลัก ก่อนจะอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นได้ เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่เกี่ยวกับการแข่งขัน (Competition Factors) ประเด็นที่เกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Investments) และท้ายสุดคือประเด็น ความมั่นคงของประเทศ (National Security)
หลังการพิจารณาแล้ว FCC อนุญาตให้เปลี่ยนเจ้าของกิจการได้ แต่เป็นการอนุญาตที่มีเงื่อนไขครับ เงื่อนไขกำหนดว่าเจ้าของใหม่ต้องลงนามข้อตกลงที่เรียกว่า Network Security Agreement คือข้อตกลงด้านความมั่นคงของระบบเครือข่าย
ที่สำคัญกว่านั้นคือ หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่กระทรวงยุติธรรม (DOJ) เอฟบีไอ (FBI) กระทรวงกลาโหม (DOD)และกระทรวงความมั่นคงภายใน (DHS ) มีบทบาทในการเจรจาหาข้อยุติเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงกับบริษัท Global Crossing ก่อนการเปลี่ยนเจ้าของเป็นรัฐบาลสิงค์โปร์
กลับมาดูที่บ้านของเราบ้างซิครับ FCC ของไทยคือ กทช. ไม่แสดงบทบาทใดๆ ทั้งสิ้น องค์การโทรศัพท์ เจ้าของสัญญาสัมปทานที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทเอไอเอส เงียบเฉย
ไม่นับถึงหน่วยงานของรัฐอีกหลายแห่งเช่นกัน เป็นเพราะว่าผู้ขายคือครอบครัวของนายกรัฐมนตรี ทุกคนเลยเป็นใบ้กันไปหมด หรือว่าความรู้น้อย จึงทำอะไรไม่ค่อยถูก หรือว่า ธุระไม่ใช่!
หรือว่า ” ความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่ความมั่นคงของฉัน ”
สุดจะเดาครับ
พูดกันจริงแล้ว ถึงวันนี้ ก็ยังไม่สายเกินไป เชิญ Temasek มานั่งโต๊ะเจรจาได้นะครับ วางหลักเกณฑ์ เรื่องความมั่นคงของชาติ ถ้าไม่ทำตามที่เราเห็นว่าเหมาะสม ยกเลิกสัมปทานเสียเลย
สัญญาสัมปทาน ข้อ 2 วรรค 2 เขียนไว้ชัดเจน
“บริษัท ต้องดำเนินการบริการให้เป็น ไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ และโดยถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามบริษัทรับบริการเพื่อประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ หรือที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อสังคม หรือความมั่นคงของรัฐ หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ ทศท. มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาและเรียกร้องข้อเสียหายได้”
ท่าน ผู้อ่านบางท่าน กำลังคิดว่า ผมเตะหมูเข้าปากหมาหรือเปล่า ไม่หรอกครับ ข้าราชการดีๆของเรามีอยู่มากครับ เพียงแต่เราต้องเห็นใจและให้โอกาสเขา
คุณ ทักษิณชี้แจงว่าทุกอย่างยังคงเป็นของคนไทยหัวดำๆนั้น บอกได้เลย ผมไม่เชื่อคำพูดของคุณทักษิณ ผมต้องการให้มีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับ Temasek คือรัฐบาลสิงค์โปร์
ท่านผู้อ่านเห็นด้วยไหมครับ
Tags: เทมาเส็ก