1-2-3 GO (3G) ตอนที่ 1
19 ตุลาคม 2552
เสียง บ่นดังขึ้นทุกวัน ไทยล้าหลัง เขมรก็มี 3G ลาวก็มี 3G ไทยไม่เอาไหนเลย แค่นี้ยังไม่มีปัญญา เขาบ่นกันอย่างนี้ละครับ แล้วทำท่าว่าพี่ไทยจะไม่มีปัญญาจริงๆเสียด้วย
ความ จริงเพื่อนบ้านไม่ได้เก่งกว่าเราหรอกครับ เพียงแต่เขาเพิ่งจะเริ่ม จึงสามารถพัฒนาเดินหน้าได้ง่ายและเร็วกว่า สร้างบ้านใหม่ ง่ายกว่าซ่อมบ้านเก่าให้เป็นบ้านใหม่ หลายครั้ง รื้อแล้วทำใหม่อาจดีกว่าเสียด้วยซ้ำ
บ้าน เราเริ่มระบบไร้สายที่เรียกว่า 1G 30ปีมาแล้วครับ จำไม่ผิดน่าจะเป็นพ.ศ.2523 ตอนนั้นใช้ระบบอะนาล๊อก แล้วเปลี่ยนเป็น 2G ที่เรียกว่าดิจิตอล ในขณะนั้นโทรศัพท์คือโทรศัพท์ เม้าท์ได้อย่างเดียว ผ่านไปสักพัก พูดคุยไม่พอแล้ว ต้องทำอย่างอื่นได้อีก (SMS, MMS) มาถึงวันนี้ เริ่มใช้อี-เมล์ โหลดภาพ โหลดเพลง โหลดคลิปหนังได้ เรามีระบบ GPRS EDGE รองรับความต้องการ แต่เรายังไม่มี 3G ทำให้การบริการไม่สะดวกและรวดเร็วอย่างใจคิด
เสียง บ่นเพราะอุตสาห์ซื้อเครื่อง 3G มาแต่ใช้ไม่ได้ มีแต่เครื่อง ไม่มีระบบรองรับ เหมือนกับมีเงินซื้อปอร์เช่ แต่ต้องรองบไทยเข้มแข็ง เพราะถนนมีแค่ 2 เลน ยังมี 4 เลนไม่ครบทุกเส้นทาง รัฐบาลไม่ก่อสร้างให้สมบูรณ์เสียที ซิ่งรถคันโปรดทั่วไทยไม่ได้ อุตสาห์ผลาญเงินไปแล้วด้วย
ลองมาวิเคราะห์กันดีกว่า ว่าทำไม 3G ไม่คลอดเสียที เป็นเพราะอะไรกันแน่
1. ตลาดมีไม่มากพอ ลงทุนวันนี้แล้วอาจมีลูกค้าน้อยเกินไป ไม่คุ้มกับเงินที่ต้องลงทุน
2. หรือหน่วยงานของรัฐเดินหน้าช้า ปัญหาเก่ามีมาก แก้ไขยาก ผลกระทบมหาศาล
3. หรือล่าช้าเพราะผู้ได้ประโยชน์ยังฮั้วไม่ติด แบ่งเค้กยังไม่ลงตัว
จะเริ่มเรื่องที่ง่ายสุดก่อน คือ ตลาดของ 3G
คน ไทยเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือกว่า 60 ล้านเลขหมาย เกือบเท่าจำนวนประชากร เพราะมีไม่น้อยรายที่มีมือถือมากกว่า 1 เลขหมาย การแข่งขันทางการตลาดทำให้ทุกอย่างบิดเบือน ออกโปรโมชั่นใหม่ที ก็เปลี่ยนเบอร์โทรกันที ตรงนี้ไม่ว่ากัน ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย มาดูกันว่าเมื่อมีผู้ใช้บริการมากขนาดนี้แล้ว ตลาดยังมีอนาคตหรือไม่
ดู เผินๆเหมือนว่าธุรกิจมือถือน่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงและเขตหัวเมือง แต่ถ้าดูตัวเลขลึกหน่อย พบว่าตัวเลขผู้ใช้มือถือแถวภาคอีสานและภาคเหนือ ยังไม่มาก ประมาณร้อยละ 50 แสดงว่าตลาดน่าจะขยายได้อีก แต่เป็นตลาดล่างที่ผู้ใช้บริการใช้มือถือพูดคุยกันเป็นส่วนใหญ่
มอง ภาพทั่วไทย ตัวเลขรายได้ 85% ของบริษัทฯมาจากการบริการด้านเสียง ส่วนที่เหลือ 15% ของรายได้เป็นส่วนของลูกค้าที่ต้องการใช้บริการอื่นๆ
ชัดเจน ว่า ตลาดล่างขยายได้อีกมาก ข้อเสียของตลาดล่างคือผู้ลงทุนได้แค่ค่าบริการจากเสียง ลูกค้าซื้อมือถือไว้พูดคุยล้วนๆ บริษัทผู้ให้บริการจะมีรายได้เข้าไม่มาก ถ้าผู้ให้บริการจะลงทุนเพิ่ม ต้องคิดหนัก อาจไม่คุ้มทุน
สำหรับตลาดบน ผู้ใช้มือถือที่มีรายได้ปานกกลางหรือสูง มีมือถือกันกว่า 100% จึงต้องมองกันว่าจะขยายตลาดส่วนนี้ได้อย่างไร
ช่อง เปิดของตลาดกลางและตลาดบนคือบริการด้านอื่นๆ จะมีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ต้องการใช้บริการที่นอกเหนือไปจากการพูดคุยหรือส่ง SMS MMS แต่ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจำนวนส่วนนี้มีมากหรือน้อยเพียงใด เห็นชัดว่าผู้บริการใดได้ระบบ 3G ก่อน ก็น่าจะแย่งลูกค้า (ที่ไม่แน่ว่ามีมากน้อยเพียงใด) ได้ก่อน จึงหนีไม่พ้นที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาระบบจาก 2 2.5 หรือ 2.75 G ในปัจจุบัน เป็น 3G
ที่ น่าสนใจคือ วันนี้เราไม่ได้พูดถึงว่าจะได้ลูกค้าใหม่ แต่จะเป็นลูกค้าเก่าที่เปลี่ยนจาก 2G เป็น 3G จึงมีคำถามต่อเบื้องต้นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์หรือไม่จากการที่ลูกค้าอาจ เปลี่ยนระบบ จาก 2G เป็น 3G
ตรง นี้มีนัยยะสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับ ระบบ 2G รัฐมีรายได้จากสัญญาสัมปทาน ถ้าลูกค้าเปลี่ยนจาก 2G เป็น 3G รายได้ค่าสัมปทานจะลดลง ระบบ 3G เป็นระบบที่กทช.จะเป็นผู้ดำเนินการประมูล รัฐจะมีรายได้อย่างไร ยังไม่มีคำตอบ ( รายละเอียดรออ่านตอนที่สอง )
กลับ มาดูตลาด 3G กันอีกครั้ง ถ้าใช้หลักคิดง่ายๆว่าคนเมืองที่มีฐานะปานกลางและฐานะดีอยากได้ 3G เพราะทำให้ชีวิตสะดวกขึ้น ทำงานได้ตลอดเวลา ติดต่อใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ตราบใดที่แบตในมือถือยังไม่หมด ( ผมไม่แน่ใจว่าพวกเราอยากที่จะอยู่ในสภาพอย่างนั้นหรือไม่) ตลาดนี้ก็น่าจะโตได้อีก เพียงพอคุ้มค่ากับการลงทุน
แต่ถ้าถามว่า วันนี้เราไม่มี 3G เราอยู่กันอย่างไร
ตอบ ว่า สบาย สบาย เพราะระบบ GPRS EDGE ความเร็วปัจจุบันก็ไม่ถึงกับเลวร้าย ใช้งานได้เกือบครบขณะที่เดินทาง แต่ถ้านั่ง นอน อยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ไร้สายผ่านเข้าอินเตอร์เน็ทก็สดวก และถ้าระบบอินเตอร์เน็ทดีเยี่ยม งดดู you tube ระหว่างการเดินทาง รอให้ถึงบ้านก่อนก็ได้ อย่างน้อยไม่เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ หรือโดดลงสถานีรถไฟฟ้าไม่ทัน
ที่ไม่ดีก็ตอนที่โทรศัพท์ถึงแฟนจะไม่ได้เห็นหน้ากันเท่านั้น ( 3G ตอบรับความต้องการตรงนี้ได้ )
อย่า เพิ่งรวบรัดว่าผมไม่ต้องการให้ 3G เกิด ผมเชื่อในเทคโนโลยี่ที่ทันสมัย และเชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นประโยชน์ ควรเดินหน้าต่อ เพียงแต่ผมหวังว่าผู้รับผิดชอบคือ กทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสสระ ต้องคิดให้หนักว่าปัจจุบันตลาดเล็ก และมีความไม่แน่นอนอยู่มาก นโยบายการประมูลต้องให้เหมาะสม โปร่งใส และรัฐไม่เสียประโยชน์ที่พึงจะได้รับ จะใช้นโยบายเสรี ใครอยากลงทุน 3G ก็เชิญ ออกใบอนุญาตให้มากเข้าไว้ หรือ จำกัดใบอนุญาตในระยะแรก แล้วค่อยๆเพิ่มเมื่อตลาดตอบสนอง ไม่ว่าจะเลือกทางไหนมีทั้งผลดีและผลเสียทั้งนั้น
ที่ สำคัญธุรกิจโทรคมนาคมไร้สายเป็นการนำคลื่นความถี่มาทำให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อสังคมและผู้ลงทุนประกอบการ คลื่นความถี่นี้เป็นสมบัติของชาติ ผลประโยชน์เข้ารัฐจึงต้องเป็นธรรม ต้องระมัดระวังอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก งานนี้สำคัญครับ
ผม ใช้เวทีนี้แสดงความคิดเห็น ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง แต่ก็จะใช้จุดยืนที่ได้แสดงไว้ในที่นี้ ในการทำหน้าที่ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้จนกว่าจะลาออกจากตำแหน่ง ตามคำบัญชาของท่านนายกรัฐมนตรี
คุยกันได้ประเด็นเดียว เหลืออีก 2 ประเด็นที่เข้มข้นกว่า ขอเป็นสัปดาห์หน้าครับ.