ADR American Deposit Recipient
พอคุณสุวรรณ เอ่ยคำว่า ADR ขึ้น และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน คุณทักษิณ ก็กล่าวย้ำอีก! ทั้งสองท่าน ทำให้ผมต้องเหนื่อย
เพิ่มครับ
อยากจะให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ จึงจำเป็นต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติม
ADR ย่อมาจากคำว่า American Deposit Recipient เป็น ตราสารชนิดหนึ่ง เหมือนหุ้นทุกอย่างครับ เพียงแต่เป็นตราสารที่เสนอขายโดยธนาคารของสหรัฐเท่านั้น เจ้าของหุ้นตัวจริงเสนอขายผ่านธนาคาร และเจ้าของหุ้น ต้องนำหุ้นที่ต้องการจะจำหน่ายสำรองไว้กับธนาคารนั้นๆ
ถ้าจะถามว่าใครคือผู้ที่จะลงทุนซื้อ ADR ตอบว่า ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนอเมริกันครับ คนอเมริกันที่ต้องการซื้อหุ้นของบริษัทต่างชาติ แต่ไม่ต้องการเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกันก็ต้องการให้บริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของหุ้นนั้น ๆ ได้ผ่านขบวนการตรวจสอบของ กลต.สหรัฐด้วย คนเหล่านี้แหล่ะครับคือ ผู้ที่ลงทุนในตราสาร ADR
เพื่อเข้าใจให้ง่ายขึ้น อาจยกตัวอย่างแบบนี้ก็ได้ครับ
สมมุติ ตัวท่านผู้อ่านเป็นคนอเมริกัน และสนใจหุ้นของบริษัทชิน อยากลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทชินเก็บไว้ วิธีง่ายที่สุดและทำได้ทันที น่าจะเป็นการซื้อหุ้นบริษัทชินจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพียงท่านนำเงินดอลลาร์สหรัฐที่ต้องการจะลงทุนแลกเป็นเงินบาท แล้วนำเงินบาทนั้น มาชำระค่าหุ้น หลังจากนั้นเมื่อท่านขายหุ้น ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน จะได้เงินค่าหุ้นที่ขายได้เป็นเงินบาท เมื่อท่านเป็นคนอเมริกัน เงินบาทใช้ไม่ได้ก็ต้องแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์ ส่งกลับบ้านครับ
ไม่ยากใช่ไหมครับ แต่ว่าจะมีความเสี่ยง เสี่ยง 2 อย่าง
เสี่ยงอย่างที่ 1 ค่า เงินบาทอาจผันผวนช่วงระยะวันที่ซื้อหุ้นกับวันที่ขายหุ้น ถ้าเป็นนักลงทุนระยะยาว ความเสี่ยงมีมากขึ้น เพราะค่าเงินบาทอาจเปลี่ยนไป ท่านอาจได้กำไรจากการขายหุ้น แต่ถ้าเงินบาทอ่อนค่าขณะที่ขายหุ้น ท่านก็จะขาดทุนครับ เพราะเมื่อเอาเงินบาทแลกเป็นเงินดอลลาร์แล้วได้เงินดอลลาร์กลับบ้านนิด เดียว
เสี่ยงอย่างที่ 2 คือ ท่านอยู่ไกลไม่แน่ใจว่าผู้บริหารโปร่งใสหรือเปล่า ไม่มั่นใจใน กลต.ของไทยว่ามีการกำกับและตรวจสอบบริษัทที่นำหุ้นจำหน่ายในตลาดเข้มงวดแค่ ไหน ดีหรือไม่ งบการเงินมีการตกแต่งทำให้ดูเหมือนว่ามีกำไรมากเกินความเป็นจริงหรือเปล่า เป็นต้น เป็นความเสี่ยง ที่ยังไม่นับความเสี่ยงของการลงทุนซื้อขายหุ้น ซึ่งหุ้นมีราคา ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามปกติ
ยกตัวอย่าง กรณีบริษัทชินออกตราสาร ADR ในตลาดแนสแดค ของสหรัฐ กลต.สหรัฐจะตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารของบริษัทชินทุกแง่ทุกมุม ขบวนการในการที่จะนำหุ้นมาขายในรูปแบบของ ADR ในตลาดสหรัฐ กว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆเท่าที่ทราบอาจใช้เวลากว่า 1 ปี
และถ้าท่านเป็นคนอเมริกัน เวลาท่านต้องการลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทชิน ในรูปแบบของADR ท่าน จะมีความเสี่ยงน้อยลง เพราะเวลาซื้อก็ใช้เงินดอลลาร์ซื้อ เวลาขายได้เงินกลับคืนมาเป็นเงินดอลลาร์เช่นกันครับ ขณะเดียวกันบริษัทชิน ก็ต้องผ่านขบวนการตรวจสอบของ กลต.สหรัฐ ความมั่นใจของท่านในฐานะท่านเป็นคนอเมริกันที่สนใจจะลงทุน ก็มีมากขึ้น
พอจะเข้าใจแล้วนะครับ
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของพวกเรา
เมื่อคุณทักษิณ ชี้แจงว่า กรรมการบริษัทชิน อนุมัติให้บริษัทนำหุ้นของบริษัท ขายในตลาดแนสแดค ในรูปแบบของตราสารADR และเป็นเหตุให้ คุณทักษิณจำต้องไปตั้งบริษัท Ample Rich บนหมู่เกาะ British Virgin และ คุณทักษิณต้องซื้อหุ้นของตนเองจำนวน 32.9 ล้านหุ้นซึ่งเป็นหุ้นของคนไทย แปลงให้หุ้นเหล่านี้กลายสภาพเป็นหุ้นของบริษัทต่างชาติ (เจ้าของคนไทยทั้งแท่ง) คุณทักษิณใช้คำอธิบายว่านำหุ้นไปไว้บนกระดานต่างประเทศ
ปัญหาของพวกเราคือ สิ่งที่คุณทักษิณ พูดนั้นเชื่อได้แค่ไหน ทำได้หรือ ถูกกฎหมายหรือเปล่า
ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะตัดสินใจ ผมอยากจะให้อ่านบทความของบริษัท Logitech ก่อน บทความนี้อธิบายความเกี่ยวกับขบวนการที่ต้องดำเนินการ ในระหว่างที่บริษัท Logitech นำหุ้นของบริษัทในรูปแบบของตราสารADR จำหน่ายในตลาดแนสแดค ถ้าท่านผู้อ่านคล่องภาษา เมื่ออ่านแล้วก็จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง แต่ถ้าท่านผู้อ่านไม่ถนัดภาษาอังกฤษมากนัก ผมได้มีคำอธิบายประกอบเอกสารไว้คร่าว ๆ แล้วครับ ท่านคลิกรับฟังได้
หลังจากอ่านเสร็จแล้วคงตัดสินใจได้นะครับว่า เหตุผลของคุณทักษิณที่กล่าวอ้างนั้นจริงเท็จประการใด
Tags: กอร์ปศักดิ์เล่าให้ฟัง, ภาษี, หุ้น