G2G

G2G

บทความนี้เขียนขณะที่อยู่ระหว่างการเดินทางไปการ์ตาร์กับท่านนายกอภิสิทธิ์ ติดกับอยู่บนเครื่องประมาณ 7 ชั่วโมง วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะใช้เวลาช่วงหนึ่ง เล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงยุทธ์ศาสตร์ของรัฐบาลในการขายสินค้าเกษตรที่รัฐฯ ได้ซื้อเก็บไว้เป็นจำนวนมหาศาล

สอบถามกันมามาก อาจเป็นเพราะว่า ข่าวที่ได้ยินได้ฟังตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะเป็นเรื่องของความขัดแย้งของนักการเมือง ฝ่ายหนึ่งอยากขาย ฝ่ายหนึ่งไม่ยอมให้ขาย ฝ่ายหนึ่งขายไปแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งสั่งยกเลิก ล่าสุดมีประเด็นว่าฝ่ายหนึ่งต้องการขาย และมีเหตุผลสำคัญคือไม่ได้เป็นการขายธรรมดา เป็นการขายระหว่างรัฐต่อรัฐ เพราะผู้ซื้อถือว่าตนเองเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน กลายเป็นประเด็นคือ อีกฝ่ายไม่ยอมขายอีกแล้ว

คงต้องปูพื้นกันนิดหนึ่งก่อน จะเริ่มที่ G 2 G ครับ

ไม่ใช่เรื่องของกิจการโทรคมนาคมแบบไร้สาย 2G หรือ 3G นะครับ แต่เป็น G to G G ในที่นี้หมายถึง Government คือรัฐบาลครับ แปลตรงตัวว่า รัฐบาลต่อรัฐบาล ความหมายที่เข้าใจกันคือเป็นการค้าการขายระหว่างสองประเทศ ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

ทำไมต้องเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาล ถ้าเอาประเทศไทยเป็นตัวตั้ง รัฐบาลทุกยุคสมัยมักจะคิดกันอย่างนี้ครับ

  1. ถ้าจะช่วยประเทศที่ยากจนหรือเพื่อมนุษยธรรม รัฐฯอาจขายผลผลิตการเกษตรในราคาถูกเช่นขายข้าวให้กับประเทศที่ประสบอุทกภัย เพื่อช่วยคนยากจนในประเทศนั้นๆ อย่างนี้เราเคยขายแบบจีทูจี รัฐบาลไทยมักจะขาดทุนจากการขายเพราะขายถูก ขายขาดทุน แต่ได้หน้า ได้เครดิต
  2. ถ้าจะหลีกเลี่ยงข้อครหาเรื่องของค่าคอมมิชชั่น รัฐฯมักจะซื้ออาวุธในรูปแบบของจีทูจี ทำบ่อย ทำเกือบทุกครั้ง ความจริงไม่ได้หมายความว่าหลีกเลี่ยงค่าน้ำร้อนน้ำชาได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้รั่วไหลน้อยหน่อย
  3. บางครั้งรัฐฯมีสินค้าล้นมือ ขายให้ใครก็ไม่ได้ หาผู้ซื้อไม่เจอ รัฐฯก็ต้องพยายามขายสินค้าในรูปแบบของการแลกสินค้ากัน พูดกันมากเรื่องนี้ ขายข้าวแลกเครื่องบิน อย่างนี้เป็นต้น แต่เอาเข้าจริง ทำไม่ค่อยจะสำเร็จ

ที่เห็นๆก็มีประมาณอย่างนี้ละครับ

ประเด็นที่สามจะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขายยากและบ้านเราผลิตได้มากเกินพอ รัฐฯต้องหาทางระบายปล่อยสินค้าออกนอกประเทศ

ผมขอกระโดดข้ามไปที่สินค้าเกษตรที่เรามีอยู่ในมือก่อน แล้วจะย้อนกลับมาเรื่องของ จีทูจี อีกครั้ง

รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ได้ดำเนินนโยบายการจำนำสินค้าเกษตร 3 ตัว (ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง) ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลในอดีต นโยบายนี้ทำติดต่อมาหลายปี เป็นการตั้งโต๊ะซื้อของราคาสูงกว่าราคาตลาด รัฐฯจึงกลายเป็นพ่อค้าเสียเองเพราะไม่มีใครซื้อแข่ง ทำให้รัฐฯมีข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เต็มโกดังทั่วประเทศ

ช่วงที่เข้ามาเป็นรัฐบาล เป็นช่วงที่นโยบายได้เดินหน้าแล้ว จะถอยหลังก็ไม่ได้ นายกอภิสิทธิ์ไม่อยากเดินหน้านโยบายนี้ต่อ แต่ไม่มีทางเลือก ท้ายที่สุดรัฐมีสินค้าเกษตรในครอบครองมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท

โจทย์สำคัญหลังจากปิดโครงการรับจำนำคือ

  1. ขายอย่างไรให้ขาดทุนน้อยที่สุด
  2. ขายอย่างไรไม่ให้กระทบราคาผลผลิตใหม่ที่จะออกในฤดูกาลหน้า
  3. ขายอย่างไรไม่ให้เกิดข้อตำหนิว่าไม่โปร่งใส

ถ้าขายไม่โปร่งใส ขายราคาต่ำกว่าราคาตลาดมากเกินควร รัฐฯขาดทุนยับเยินแน่นอน

ถ้าขายในขณะที่ตลาดนอกประเทศราคาไม่ดี ขาดทุนมากอีกเช่นกัน

ถ้าขายไม่เป็น ขายให้พ่อค้าเพื่อนำมาใช้ในประเทศ พ่อค้าไม่ต้องซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรง เกษตรกรย่ำแย่ เพราะเกษตรกรขายของไม่ได้ราคา ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำทันที

และถ้ารัฐฯ ขายสินค้าเกษตรครั้งละ ล๊อตใหญ่ๆ ขายที่ละมากๆ จะทำให้ตลาดเสียขบวน ราคาก็จะตกต่ำเช่นกัน

ความจริงประเทศไทยมีรัฐบาลที่ดำเนินการผิดๆถูกๆมาแล้วทั้งนั้น ช่วงไหนทำถูก ทำดีก็รอดตัว ขาดทุนน้อย ช่วงไหนทำไม่ดี ทำผิด รัฐฯจะเสียเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อนำมาชดเชยกับผลขาดทุนที่เกิดจากขายที่ขาดประสิทธิภาพ

รัฐบาลนี้แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร? เป็นคำถามที่ตอบยากพอสมควร เพราะมีปัจจัยและองค์ประกอบหลายข้อด้วยกัน ขณะนี้รัฐฯเดินหน้าแบบนี้ครับ

  1. แก้ปัญหาความไม่โปร่งใส เดิมอคส.(รัฐวิสาหกิจ)เป็นผู้ขาย วันนี้กรมการค้าต่างประเทศ(ราชการ)เป็นผู้ขาย เชื่อว่าเครื่องไม้เครื่องมือและความรับผิดชอบของท่านข้าราชการกรมการค้า ต่างประเทศจะช่วยแก้ปัญหาที่อาจไม่โปร่งใสได้ส่วนหนึ่ง การขายทุกครั้งต้องให้ครม.เป็นผู้อนุมัติ (ครม.ทั้งคณะช่วยกันตรวจสอบ) ไม่ปล่อยให้กระทรวงฯรับผิดชอบแต่ผู้เดียว
  2. แก้ปัญหาการขายที่ไม่กระทบราคาตลาด โดยมียุทธศาสตร์ในการขายที่ชัดเจน ยุทธศาสตร์เรื่องของปริมาณ ขายมากน้อยแค่ไหนในแต่ละครั้ง ขายเฉพาะส่งออกเป็นหลัก ไม่ขายเพื่อนำมาใช้ในประเทศ ยกเว้นเพื่อช่วยธุรกิจรายย่อย( สหกรณ์)

ด้วยยุทธศาสตร์การขายดังกล่าว และสภาพตลาดโลกที่เอื้ออำนวย ทำให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังวัดผลงานไม่ได้ชัด คงต้องดูอีกระยะหนึ่งว่ารัฐฯเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่

กลับมาเรื่อง จี ทู จี เรื่องของรัฐบาลจีนที่ขอซื้อแป้งมันกันดีกว่าว่ามีปัญหาอย่างไร

สองส่วนครับ

ส่วนแรก จีนขอซื้อแป้งมันในปริมาณที่มากถึง 200,000 ตันขณะที่เรามีอยู่ในโกดังเพียง 300,000 ตัน ถ้ารัฐฯตัดสินใจขาย พ่อค้าส่วนหนึ่งจะหยุดซื้อหัวมันสดจากเกษตรกร (อาจซื้อจากจีนแทน) ราคาหัวมันสดจะตก

ส่วนที่สอง ราคาครับ จีนเสนอซื้อแป้งมันในราคาทึ่ 7.9 บาทต่อกก. ขณะที่คณะกรรมการฯได้อนุมัติขายให้ผู้ส่งออกคนไทยในวันเดียวกันที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 8.50 บาทต่อกก. ตอบยากว่าทำไมต้องอนุมัติขายให้จีนในราคาที่ถูกกว่า

แต่ไม่นานจีนก็มีข้อเสนอใหม่ ปรับราคาขึ้นหลายครั้งล่าสุด เสนอราคาประมาณ 8.40 บาทต่อกก.

จะขายหรือไม่อยู่ที่อำนาจของคณะกรรมการและครม.ครับ

จีนเป็นประเทศใหญ่โต การขายในลักษณะ จี ทู จี น่าจะหมายถึงรัฐบาลจีนช่วยรัฐบาลไทย เพราะต้นทุนมันสำปะหลังของเราสูงมากจากโครงการรับจำนำ จึงไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลไทยจะต้องช่วยให้รัฐบาลจีนซื้อของถูกเพื่อไปขายแพงแล้วมีกำไร ( แป้งมันนำไปใช้ในการผลิตเอทานอล) แต่เราเองต้องรับภาระการขาดทุน

ผมยังเชื่อว่านโยบายการขายอย่างมียุทธศาสตร์กำลังเกิดผล ราคาหัวมันสดปรับขึ้นเป็นรายวัน ของที่มีเหลืออยู่ในโกดังควรจะค่อยๆทยอยขาย ราคาในประเทศจะได้ไม่ตก รัฐฯจะขาดทุนน้อยเพราะขายได้ราคาดีถึงแม้ต้องเสียค่าเก็บรักษาและคุณภาพสินค้าอาจเสื่อมบ้าง แต่เมื่อ บวก ลบ คูณ หาร กันแล้ว คุ้มค่าครับ

ไม่ว่าจะเดินนโยบายอย่างไร แบบไหน ท้ายที่สุดเราต้องไม่ลืมเป้าหมายหลักคือเกษตรกรต้องขายสินค้าได้ราคาที่ดี และมีกำไร เกษตรกรต้องมาก่อนครับ.

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: , ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา