1-2-3 GO (3G) ตอนจบ

1-2-3 GO (3G) ตอนจบ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 พ.ย.)  ครม.เศรษฐกิจถกกันเรื่อง 3G ด้วยครับ   ท่านนายกอภิสิทธิ์นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน  กระทรวงไอซีทีเจ้าของเรื่องเป็นผู้นำเสนอ กระทรวงฯ ต้องการให้ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบแนวทางการเดินหน้าต่อของทีโอทีในเรื่องของ 3G กทช.ถึงแม้จะเป็นองค์กรอิสระ  ก็ได้เข้าประชุมในวันนั้นเช่นกัน

ผมในฐานะที่เป็นกรรมการคนหนึ่ง  อยู่นิ่งไม่ไหว  ถือโอกาสนำเรื่องที่เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง  สาธยายให้ผู้เข้าร่วมประชุมครม.เศรษฐกิจได้รับทราบ   ผมเริ่มที่สัญญาสัมปทานมือถือระหว่างรัฐวิสาหกิจ (ทีโอที กสท.) และภาคเอกชนที่ได้มีการแก้ไขกันหลายครั้งหลายหน   และกฤษฎีกามีความเห็นว่าเป็นการแก้ไขที่ผิดกฎหมาย   ให้เร่งดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง    แต่หน่วยงานกลับละเลย   ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาแล้วกว่าสองปี

ในที่ประชุมถ้าจำไม่ผิดทั้งทีโอทีและกสท. ที่เข้าร่วมประชุมด้วย  นั่งฟังแบบนิ่งๆ  เก๋ไปอีกอย่าง

ผมร่ายต่อด้วยแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมที่ระบุว่าสัญญาสัมปทานให้ยุติ ภายในปี 2553   แต่มีคนหัวใสนำไปตีความผิดๆ   เช่นไปตีความว่าให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานได้    ผมขยายความให้ฟังในวันนั้นว่า  ครม.ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทนี้ไม่ได้หมายถึงการอนุญาตให้ยกเลิกสัญญา สัมปทาน  แต่หมายถึงการนำมูลค่าสัญญาทั้งหมดมาคำนวนให้เป็นมูลค่าในปี 2553  คู่สัญญาจะชำระเงินทั้งหมดในวันยุติสัญญาหรือชำระในช่วงเวลาตามกำลังความ สามารถก็ตกลงกันได้     ถือว่าเป็นการยุติสัญญาสัมปทาน

สำคัญสุดคือแนวทางการออกใบอนุญาต 3G  และการเตรียมการประมูลของกทช.  ที่เข้าใจได้ว่าอาจมีผลกระทบกับรายได้ของรัฐฯที่ได้จากสัญญาสัมปทาน ปัจจุบัน   เพราะจะมีการโอนย้ายลูกค้า 2G ของบริษัทที่จ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐฯ (ร้อยละ 20-25) ไปใช้บริการ 3G ของบริษัทฯที่แบ่งรายได้ให้กทช. (ร้อยละ 6.5)

สาธยายเสร็จแล้วก็นั่งฟัง  ต้องบอกว่าคำชี้แจงไม่ได้ต่างไปจากที่ได้ยินมาเกือบทุกเรื่องที่เข้าประชุม ในคณะกรรมการชุดอื่นๆ   ค่อนข้างจะชินเสียแล้ว   ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามระบบราชการเดิมๆ  คงจะวนไปวนมาอย่างนี้   หาทางออกยากเต็มที

ผมถามตัวผมเองว่า    เราจะเดินหน้าต่ออย่างไรดี   ผมว่าเรื่องนี้ต้องจบแล้ว   มัวแต่นั่งกังวล  นั่งบ่น คงจะไม่ได้    บ้านเมืองต้องเดินหน้าต่อ  เทคโนโลยีใหม่ๆรอใครก็ไม่ได้เช่นกัน   ปัญหามีมากแต่มีไว้ให้แก้ไข   ไม่ใช่พอมองเห็นปัญหาแล้วก็ปล่อยไว้   ไม่แก้ปัญหาเดิมเพราะไม่ได้ประโยชน์   เดินหน้าต่อเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์กับตนหรือพวกพ้อง  อย่างนี้รับไม่ได้

มองแนวทางการแก้ไขไว้อย่างนี้

ผมเป็นประธานคณะกรรมการ กนร.  เป็นคณะกรรมการที่กำกับงานนโยบายของรัฐวิสาหกิจ คงต้องเร่งประชุมโดยนำเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ผิดกฎหมายนี้มาพิจารณา เพื่อส่งต่อครม.  ให้มีมติเร่งรัดกระทรวงดำเนินการ   และน่าจะได้รวมแผนยุติสัญญาสัมปทานในปี 2553 (ตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม) เข้าด้วยกัน    คือเจรจาแก้ไขให้แล้วเสร็จพร้อมกันไป   ควรกำหนดเวลาด้วย   เช่นวางเป้าหมายไว้ 180 วัน

เป็นโจทย์ใหญ่แต่เป็นหัวใจ   เพราะเมื่อทำสำเร็จ  ภาคเอกชนทุกรายจะกลับมายืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน  แปลว่าทุกคนสามารถเข้าประมูลใบอนุญาตประกอบการใหม่ได้อย่างเท่าเทียมกัน  และไม่ต้องกังวลเรื่องของการย้ายฐานลูกค้าอีกต่อไป    แต่อุปสรรคในการเจรจามีมาก  เช่น

รัฐฯ โดยทีโอที มีรายได้จากสัญญาสัมปทาน (AIS) ประมาณ 23,000 ล้านบาทต่อปี   สิ้นสุดสัญญาปี 2558 เหลืออีก 7 ปี   รายได้ส่วนนี้ไม่หนี 160,000 ล้านบาท     ส่วน กสท. มีรายได้ประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี   (AIS 1800  สัญญาหมดปี 2556    DTAC 800 – 1,800 สัญญาหมดปี 2561     TRUE 1,800 สัญญาหมดปี 2556)   คิดเฉลี่ยทุกสัญญา  4–9 ปี  รายได้น่าจะรวมแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท   รวมรายได้เรื่องของมือถือที่เป็นส่วนแบ่งให้กับรัฐฯ เกือบ 200,000 ล้านบาท

ความยากคือต้องแปรมูลค่าของสัญญาตามอายุที่เหลือประมาณ 200,000 ล้านบาทนี้ มาเป็นมูลค่าปี 2553   อุปสรรคที่ตามมาคือหลังจากปี 2553   เอกชนจะประกอบกิจการต่อได้อย่างไร   แบบไหน   ใช้ใบอนุญาตออกโดยใคร เพราะเมื่อสัญญาสัปทานสิ้นสุดลง (ก่อนกำหนด)  ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตใบใหม่มาใช้ในการประกอบกิจการการต่อ    จะเห็นได้ว่า   แต่ละเรื่องไม่ใช่จะตกลงกันโดยง่ายนักเพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล

การออกใบอนุญาตใหม่ 3G ของกทช.จะสอดคล้องและทำได้ง่ายขึ้น  ถ้าอุปสรรคที่กล่าวไว้เบื้องต้นได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนการ ประมูล        หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องยาก  ควรปล่อยให้สัญญาสิ้นสุดตามปกติ   ผมมองต่างครับ   ที่สัญญาเช่าที่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลที่ลาดพร้าวกับการรถไฟ   หรือสัญญาสัมปทานช่อง 3 กับอสมท. สัญญายังไม่สิ้นสุดก็เห็นเริ่มเจรจากันแล้ว   ที่เจรจาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็มี  ทำไมการต่อสัญญาก่อนวันสิ้นสุดของสัญญาทำได้ง่าย   แต่ถ้าจะให้ได้ยุติสัญญาก่อนกำหนดถึงแสนยาก  น่าคิดไหมละ

จึงมีแนวความคิดว่า   ถ้ากทช.ร่วมมือกับทางราชการ  กำหนดหลักการประมูลว่า   ค่าใบอนุญาต 3Gสำหรับผู้ประกอบการเจ้าประจำ  ต้องมีมูลค่าไม่น้อยไปกว่ารายได้ที่รัฐได้จากสัญญาสัมปทาน   หรือกำหนดว่าผู้ประมูลต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงหรือทางอ้อมกับ เอกชนที่มีสัญญาสัมปทาน แปลความว่าใบอนุญาตออกให้เฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่จริงๆ   หรืออาจอนุญาตให้รายเก่าประมูลก็ได้   แต่ต้องมีข้อยุติในเรื่องของสัญญาสัมปทานเดิมที่มีกับภาครัฐเสียก่อน

เห็นใจครับว่าแนวที่นำเสนอนี้ไม่ง่าย   เหนื่อยหน่อย  แต่ประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุด  ปัญหาเก่าที่ไม่เป็นธรรมจะได้รับการแก้ไข   เดินหน้ากันใหม่โดยเป็นกติกาที่ภาคเอกชนได้รับความเสมอภาค  ไม่มีพวกใครพวกมัน  แข่งขันกันอย่างจริงจัง  ภาครัฐฯได้ประโยชน์เต็มที่  เจ้าของประเทศที่ไม่ได้ใช้ 3G ไม่บ่นเพราะมีรายได้จากการขายคลื่นความถี่เข้าสมทบกับงบประมาณปกติ   เงินนี้นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อย่างดียิ่ง (เรียนฟรี   ประกันรายได้  เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ)

สำหรับผู้บริโภค   ผู้ใช้บริการทั้ง 2G และ 3G  ก็จะได้ประโยชน์   จะได้ของดีและราคาที่เป็นธรรม    เพราะจ่ายค่าบริการบนพื้นฐานทีมีการแข่งขันของธุรกิจอย่างเสรี  และโปร่งใส

จะเหนื่อยยากอย่างไร  เป็นหน้าที่ของพวกเรา  ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการประจำ  ภาคการเมือง  หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระ  ไม่ใช่หรือ.

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: , ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา